24 January 2025
เกมคอมพิวเตอร์กับจิตเวช
คอลัมน์ Everlasting Economy: Regenerative Reflections มกราคม 2568 โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ผมเขียนคอลัมน์นี้หลังจากการแข่งขันฟุตบอลอาเซียนคัพนัดชิงชนะเลิศระหว่างไทยกับเวียดนามที่สนามราชมังคลาฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคมผ่านมา ซึ่งพวกเราอาจจะรู้สึกว่าผลการแข่งขันติดอยู่ในใจ เราเล่นได้ดีเลย แต่ทำไมแพ้ หรือเป็นเพราะเราไม่ได้ลูกโทษในช่วงท้ายเกม หรือเป็นเพราะนักเตะเราโดนใบแดง ทั้ง ๆ ที่เราควรจะได้ฟาวล์ก่อนที่เราจะไปทำฟาวล์เขา ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะติดอยู่ในใจหรือสมองเราตลอด และคิดวน ๆ ไปไม่หยุด จนอาจจะทำให้เกิดเป็นบาดแผลทางใจ (trauma) อย่างอ่อน ๆ ได้
สำหรับบางคน เหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจอาจรุนแรงกว่านั้น เช่น อยู่ในเหตุการณ์รถชนที่มีญาติสนิทบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือไฟไหม้บ้านที่อาศัยอยู่มอดไปทั้งหลังต่อหน้าต่อตา ภาพต่าง ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นภาพติดตาและตามมาหลอนอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้ารถที่คว่ำเป็นรถสีน้ำเงิน เมื่อเข้าใกล้วัสดุสีน้ำเงินอย่างถ้วยกาแฟสีฟ้าเข้ม ก็อาจจะรู้สึกหลอนและสลัดภาพเหล่านี้ไม่ออก นาน ๆ เข้า ก็ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ เพราะเมื่อหลับตา ภาพเหล่านี้ก็โผล่ขึ้นมาอีก จนท้ายสุดอาจเป็นโรคประสาทหรือโรคจิตอ่อน ๆ จนต้องไปหาหมอจิตเวช
ในโลกตะวันตก การเข้าพบหมอจิตเวชนั้นเกือบเป็นเรื่องปกติ และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยก็ได้ แต่สำหรับคนที่มีบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์รุนแรง การรักษามักจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาจาก Wellcome Trust ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสุขภาวะที่ดี (well being) ในประเทศอังกฤษ ที่ได้ให้คนไข้ประเภทดังกล่าวทดลองเล่น Tetris (เป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่เราต้องหมุนวัสดุที่ตกลงมาในรูปทรงต่าง ๆ ให้ตกลงร่องแล้วประกอบกันสมบูรณ์โดยไม่มีช่องว่าง ดังแสดงในรูป) โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการนึกถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัว แล้วเริ่มเล่น Tetris เป็นเวลา 20 นาที ผลการทดลองพบว่าหลังจากสัปดาห์ที่ 4 ผู้ป่วยที่เล่นเกมนี้มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ภาพหลอนลดลง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เล่นเกม ความวิตกกังวลลดลง และการนอนหลับดีขึ้น
ผู้ป่วยหลายคนบรรยายถึงภาพหลอนว่าเหมือนกับ “ยุง” ที่บินอยู่รอบหัว เดี๋ยว ๆ ก็กลับมา เหมือนเสียงหึ่ง ๆ ของยุงที่จะดังวน ๆ หูอยู่ตลอด แต่พอมาเล่นเกม Tetris แล้ว ปรากฏว่า สมองต้องตั้งใจและมีสมาธิอยู่กับเกมแบบจดจ่อ เพื่อแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีสมองไปคิดวนเวียนกับเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ เหล่านั้น พอเล่นนาน ๆ ก็เลยทำให้ความรู้สึกที่จมอยู่กับความเลวร้ายนั้นจางไป อาจไม่หายไปอย่างถาวร แต่ก็ไม่วนเวียนกลับมาเหมือนยุงที่บินกวนใจอีก
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองคนเราจดจำเหตุการณ์ต่าง ๆ (memories) เป็นรูปภาพ มากกว่าคำพูดหรือตัวอักษร ฉะนั้น เมื่อเราผ่านเหตุการณ์ที่ร้ายแรง บางทีภาพแย่ ๆ นั้นก็จะติดอยู่ในหัว และสะท้อนออกมาเป็นระยะ ๆ แต่พอเราเล่นเกม Tetris ที่ต้องจดจำรูปร่างของวัสดุที่ตกลง และยังต้องคิดว่าจะหมุนอย่างไรให้ลงตัว แถมยังแข่งกับเวลา ทำให้เรามีสมาธิที่จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า โดยใช้สมองส่วนเดียวกันกับที่จดจำเหตุการณ์แย่ ๆ ซึ่งเมื่อสมองไม่สามารถ multitasking ได้พร้อม ๆ กัน สมองจึงต้องเลือกว่าจะเล่นเกมหรือรื้อฟื้นความจำที่เป็นภาพหลอนเหล่านั้น และเมื่อสมองถูกใช้งานอย่างเต็มที่ไปกับเกม จึงทำให้ภาพต่าง ๆ เหล่านั้นหลุดไปอยู่ข้างหลัง ไม่เหลือพื้นที่ให้ความทรงจำที่เลวร้ายผุดขึ้นมา
การรักษาดังกล่าว นอกจากเป็นการค้นพบที่ช่วยให้การบำบัดอาการทางจิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงด้วย เราไม่ต้องนัดหมอ รับบัตรคิว และเสียค่าใช้จ่ายอีกมากมาย แค่เปิดไอแพด ไอโฟน สมาร์ทโฟนต่าง ๆ ก็เริ่มกระบวนการรักษาได้ และทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การติดเกม โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ บางครั้งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีตลอดไป เกมบางอย่างที่ต้องการสมาธิ นอกจากจะช่วยรักษาอาการบางอย่างทางสมองแล้ว ยังอาจจะทำให้เรามีสมาธิและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อีกด้วย ผมเองเวลาว่าง ๆ หรือเวลาเครียด ๆ ก็จะเล่น solitaire หรือเกมถอดไพ่ที่เดี๋ยวนี้สามารถเล่นแบบแก้ตัวได้หลายครั้งในหนึ่งเกม ซึ่งบางทีการสลับการเปิดไพ่แค่ 1 หรือ 2 ใบ อาจจะส่งผลให้ถอดไพ่ได้ทั้งสำรับ ซึ่งนอกจากทำให้มีสมาธิ ลืมเรื่องเครียด ๆ แล้ว ยังช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาโดยใช้ตรรกะหรือ logic ได้อีกด้วยครับ