TH

25 April 2025

Regenerative Neighborhoods

คอลัมน์ Everlasting Economy: Regenerative Reflections เมษายน 2568 โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อคราวที่แล้ว ผมพูดถึงการเดินทางเพื่อเปิดหูเปิดตา พบเจอสิ่งที่แปลกและแตกต่างออกไป อันจะช่วยพัฒนาสมองในส่วนจินตนาการของเรา และทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ วิธีแปลกๆที่จะแก้ไข หรือหาทางออก หรือแม้กระทั่งมาปรับปรุงการงานที่ตนทำอยู่ ซึ่งก็จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมหรือ innovation ได้มากขึ้น คราวนี้เลยขอชวนคุยต่อยอดจากที่เขียนไว้คราวที่แล้ว

ผมคิดว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้แทบทุกคน คงเคยมีประสบการณ์ท่องเที่ยวยุโรปหรือญี่ปุ่น หรือใกล้กว่านั้นอาจจะเป็นการไปประเทศจีนเพื่อไปเยี่ยมญาติสำหรับผู้ที่มีเชื้อสายจีน เป็นต้น ซึ่งเราจะพบว่าในช่วงหลังมานี้ ความนิยมในการไปเที่ยวเมืองเก่ามีมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองเล็ก ๆ สมัยโรมันในยุโรป เช่น เมือง Bruges ในเบลเยียม เมือง Eze ในฝรั่งเศสตอนใต้ เมือง Cinque Terre ในอิตาลี หรือเมืองมรดกโลก Takayama ในญี่ปุ่น รวมถึงเมืองเล็ก ๆ อย่างเจียงหนาน แถวหางโจว ในประเทศจีน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในนิยายบู๊ลิ้ม เมืองเหล่านี้กลับกลายเป็นจุดหมายยอดนิยม มากกว่าเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าและประชากรหนาแน่น

ผมเอง เมื่อวันก่อนที่บ้านก็ชวนไปเดินเล่นที่ถนนทรงวาด ซึ่งเมื่อสัก 75 ปีก่อนยังเป็นท่าเรือหลักที่สมัยคุณพ่อผมลงเรือไปเมืองจีน และจะมีโกดังเก็บของที่ส่งมาทางเรือจากทุกมุมโลกมาเข้าท่าที่นี่ ก่อนส่งเข้าสำเพ็ง และกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ เราจึงเห็นอาคารห้องแถวที่เป็น home office ในสมัยดั้งเดิม จนถึงโกดังเก่าหลายแห่ง ที่เป็นที่เก็บของ และในปัจจุบัน ได้กลายเป็นจุดเช็คอินของสายโซเชียล เพื่อทำ content ซึ่งห้องแถวหรือโกดังต่าง ๆ เหล่านี้ วันนี้ได้กลายสภาพไป บ้างก็เป็นฉากละคร บ้างก็ดัดแปลงเป็นโรงแรมแบบบูติก และบ้างก็เป็นร้านอาหารสไตล์เก๋ๆ ทั้งโบราณและร่วมสมัย การปรับเปลี่ยนเช่นนี้ นอกจากจะช่วยทั้งรักษาอาคารเก่าต่าง ๆ เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้แล้ว ยังอาจจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่แถวนี้ได้อีกด้วย อีกย่านหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือบริเวณตลาดน้อย ที่ยังรักษาทั้งสถาปัตยกรรมเดิม ๆ และผังเมือง (ที่ดูเหมือนจะไม่มีผัง) แต่เวลาเดินไปมาแบบงง ๆ กลับพบว่ามีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองโบราณในยุโรปเลยครับ

สำหรับสิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ ใกล้บ้านเรา ในช่วงทศวรรษที่ 90 ก็มีการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด โดยทุบทำลายตึกแถวเก่า ๆ วางผังเมืองใหม่ แล้วสร้างตึกสูงระฟ้า พร้อมกับการถมทะเลเพื่อขยายเมืองให้ใหญ่และทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ก็มีบางจุดที่ผู้คนท้องถิ่นต่อต้านการรื้อถอน สุดท้ายเลยถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่กึ่ง ๆ อนุรักษ์ และคงกลิ่นอายของความเป็นจีนไว้ เช่นบริเวณ Tanjong Pagar ถึง Boat Quay ที่เราจะเห็นตึกแถวสองชั้นแถวนั้นถูกอนุรักษ์ไว้ แม้บริเวณดังกล่าวจะอยู่ห่างจากย่านธุรกิจ CBD หรือ financial district ของสิงคโปร์ในระยะห่างที่สามารถเดินถึงได้ในสิบนาทีเท่านั้น

ถ้าพิจารณาเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ การรื้อทิ้งเพื่อสร้างตึกสูงย่อมดูคุ้มค่ากว่า แต่การสงวนพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นการรักษาวัฒนธรรมและมรดกของประเทศไว้ แม้ในช่วงทศวรรษแรกนั้น อาคารเหล่านี้ จะดูเหมือนยังหาจุดขายไม่ได้ จะเป็นที่พักก็ไม่เชิง เป็น home office ก็ไม่เข้าพวก เพราะเดินไปสิบก้าวมีอาคารสูงให้เช่าอยู่ แถมเห็นวิวทะเลด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายย่านนี้ก็กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมมากในยามกลางคืน ที่ทุกคนต้องมารับประทานอาหารเย็น และเป็นจุดเช็คอินสำหรับทั้งคนทำงานและนักท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดผมอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ Financial Times ว่าราคาต่อตารางเมตรของทาวน์เฮาส์ย่านนี้ แพงที่สุดในสิงคโปร์ แพงกว่าอพาร์ตเมนต์หรู ๆ เสียอีก สะท้อนให้เห็นว่าความมีอารยะและวัฒนธรรม มีมูลค่าเสมอในระยะยาว

เมื่อผมหันกลับมามองในกรุงเทพฯ ชั้นในบ้าง ก็เห็นว่ามีการทุบตึกเก่า แล้วขึ้นตึกใหม่สูง ๆ อยู่เนืองๆ จนหลาย ๆ แห่ง “เสน่ห์บางกอก” เริ่มจางหายไป ตอนนี้ย่านที่กำลังติดตลาดและน่าจะพัฒนาไปเหมือนย่าน Tanjong Pagar ของสิงคโปร์ได้ ก็คงจะเป็นย่านบรรทัดทอง ซึ่งตอนเย็น ๆ เราจะเห็นว่าร้านอาหารบางร้านเช่น ข้าวต้มเจ๊โอว มีชาวจีนมาต่อแถวกินตั้งแต่บ่ายแก่ ๆ จนกระทั่งเที่ยงคืน และยังมีอีกหลาย ๆ ร้าน ที่ผู้คนต่อคิวกันยาวเหยียด แต่เริ่มมีข่าวว่าค่าเช่าที่เริ่มสูงขึ้น จนทำให้อาจจะต้องย้ายออกกัน ก็หวังว่าผู้บริหารพื้นที่นี้จะช่วยรักษาเสน่ห์อันมีเอกลักษณ์เช่นนี้ไว้นานๆ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัส และเป็นการพัฒนาแบบ Regenerative Neighborhoods อย่างที่ผมจั่วหัวบทความนี้ไว้นะครับ