TH

30 April 2020

Physical Distancing กับ Social Togetherness

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน เมษายน 2563
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

เหมือนกับว่าคลื่นลูกแรกของโควิด-19 เริ่มเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้ในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในย่านเอเชียที่มีมาตรการ lockdown อย่างเข้มข้นซึ่งประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำและนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด แม้แต่ประเทศที่มีอัตราติดเชื้อในระดับสูงของโลก อย่างเช่นประเทศในทวีปยุโรป ก็เหมือนจะผ่านจุดวิกฤติที่สุดไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์หมอหลายๆ ท่านได้เตือนให้ระวังคลื่นลูกที่สองจากการที่เราไม่ระวังตัว ซึ่งจะระบาดเข้าสู่ระดับวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ว่ากันว่า Spanish Flu เมื่อ 100 ปีก่อนนั้น มีการระบาดกันถึงสามระลอก หรือสามคลื่น และคลื่นที่สองเป็นระลอกที่ทำความเสียหายสูงสุด หรือล่าสุดที่ปรึกษาชั้นนำของโลกอย่าง McKenzie ก็มีการวิเคราะห์ว่า แม้จะไม่มีคลื่นลูกที่สองก็น่าจะมีการติดเชื้อเป็นโซนๆ ซึ่งก็มีการ lockdown ใหม่เป็นโซนๆ หรือเป็นบางจังหวัด บางเมือง ทำให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและปลดล็อกเป็นไปแบบไม่เต็มที่ ฉะนั้น การรักษาระยะห่าง (physical distancing) และการใส่หน้ากาก ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ

เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ lockdown และผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมประจำวันเหมือนเดิม เรายังต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่าง ซึ่งเราก็ได้เห็นว่าร้านอาหาร การเข้าคิว ต้องมีการขีดเส้นให้ห่างกัน โรงงานใหญ่ๆ หลายแห่งในยุโรปได้เพิ่มมาตรการอย่างเข้มงวด โดยการให้พนักงานในโรงงานใส่อุปกรณ์เล็กๆ ที่วัดระยะ ฝังไว้ในบัตรพนักงาน (proximity meter) ขนาดอุปกรณ์นี้เล็กกว่าหัวไม้ขีด หรือใส่ในรูปแบบสร้อยข้อมือ เมื่อพนักงานมากกว่าสองคนมาอยู่ในระยะที่ใกล้เกินระยะที่กำหนด เครื่องจะร้องเตือน คล้ายๆ กับเวลาเราถอยรถ แล้วมีสัญญาณร้องเตือนว่าจะชนแล้ว โดยบริษัท start up ที่ชื่อ Kinexon เป็นผู้ออกแบบเครื่องมือดังกล่าวที่เรียกว่า Safezone ซึ่งมีบริษัทข้ามชาติที่เกี่ยวกับการส่งอาหารได้นำไปใช้ด้วย เพราะพนักงานต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงสูง ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีทีเดียว แรกเริ่มเดิมที บริษัท Kinexon ได้ออกแบบอุปกรณ์นี้เพื่อวัดการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของนักกีฬา เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ให้นักกีฬามีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อไม่มีการแข่งกีฬา ทางบริษัทก็เลยดัดแปลงนวัตกรรมเป็น Safezone แทน ซึ่งเป็นการปรับตัวทางธุรกิจที่น่าสนใจมากครับ

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมครับ ซึ่งเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน นักปราชญ์ชาวกรีก อริสโตเติล ได้กล่าวว่า “man is, by nature, a social animal” ฉะนั้น เมื่อเราต้องรักษาระยะห่าง แต่ก็ยังคงต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน การประชุมผ่านวีดิโอจึงไม่ใช่แค่สำหรับการประชุมหรือทำงานเท่านั้น ผมเห็นมีการรับประทานอาหารเย็นหรือแม้กระทั่งดื่มสังสรรค์กันผ่าน zoom หรือ line group video call ซึ่งบางครั้งมีคนเข้าร่วมกันเป็นสิบท่าน โดยทุกคนก็รับประทานหรือดื่มอยู่ที่บ้าน แล้วก็แชร์ภาพอาหารและเครื่องดื่มผ่าน social network ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนทั่วโลก

ตัวอย่างเช่น นักเขียนในหนังสือพิมพ์ Financial Times สัมภาษณ์แขก พร้อมรับประทานอาหารร่วมกันในแบบ virtual แล้วมาเล่าให้ผู้อ่านฟังในวันอาทิตย์ เห็นได้ว่าเราทุกคนมีความพยายามที่ได้นั่งคุยและแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นด้วยกันหรือ social togetherness ซึ่งเรายังได้เห็นเลดี้ กากาจัดคอนเสิร์ต One World โดยมีศิลปินอย่างพอล แมคคาร์ทนี่ย์ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เอลตัน จอห์นและนักร้องอีกหลายท่านร้องสดจากบ้านผ่าน streaming เป็น virtual concert เพื่อระดมทุนช่วยบุคลากรทางแพทย์เหมือนที่ไมเคิล แจ๊คสันจัดคอนเสิร์ต We Are the World เมื่อ 35 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเด็กอดอยากในแอฟริกา แต่ต่างตรงที่คราวนั้นเป็น physical concert หรือมีการรวมตัวกันจริงๆ ของผู้แสดงและผู้ชม

สายใยแห่งความห่วงใยในสังคมนั้น ไม่ใช่แค่ต้องการปฏิสัมพันธ์กันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแล และเผื่อแผ่กันในยามวิกฤติโรคระบาดนี้อีกด้วย ผมยังจำได้ว่าเมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งที่ IMF เข้ามาแล้วบอกว่าเราไม่มีหลักประกันทางสังคมหรือ social safety net จึงเป็นที่มาของทั้งกองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่สิ่งที่คนไทยเรามีมากกว่าก็คือความโอบอ้อมอารี และเมตตา กรุณา ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นคนไทยทุกคนช่วยกันในหลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเห็นผู้คนหรือหมอใหญ่อย่าง น.พ.อุดม คชินทร อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลงมือใช้จักรเย็บผ้าโบราณตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายให้กับแพทย์และบุคคลเสี่ยง การบริจาคเจลแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่ต้องการ เช่น วินมอเตอร์ไซด์ การออกแบบวัสดุทางแพทย์จากศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางสาธารณสุข จนถึงการทำอาหารแจกจ่ายกันกับผู้ด้อยโอกาสอย่างมากมาย และนวัตกรรมล่าสุดคือ ตู้ปันสุข ที่มีการตั้งตู้กับข้าวไว้ข้างถนน แล้วคนที่มี ก็นำเสบียงมาเติม ส่วนคนที่ขาด ก็หยิบไปรับประทาน เป็นต้น

ถึงแม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะทำลายหลายๆ อย่างบนโลกเรา ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป การทรุดลงของเศรษฐกิจ ความกังวลใจต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต หรือแม้กระทั่งเรื่องมูลค่าทรัพย์สินที่จะมีราคาต่ำลงอย่างมาก โดยเมื่อเราต้องรักษาระยะห่าง อาจทำให้สายใยสังคมหรือ social networking ให้แย่ลงไป แต่เท่าที่ผ่านมาเราจะเห็นได้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นทางตรงข้ามเพราะเรามี social togetherness มากขึ้น และมีความห่วงใย เอื้ออาทรที่สูงขึ้น และโลกเราก็น่าอยู่มากขึ้นครับ