30 September 2019
Bioplastic คำตอบหรือโจทย์ใหม่
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กันยายน 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
หลังจากเกิดวิกฤติปลาพะยูนมาเรียม เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้นเรื่องขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อสักสองอาทิตย์ก่อนก็มีการค้นพบไมโครพลาสติกในปลาทูที่เรารับประทานกันอยู่เนืองๆ ทำให้ตื่นตัวกันเพิ่มขึ้น แต่แล้วล่าสุดก็มีการสื่อสารกันทางโซเชียลถึงอันตรายของพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ทำจากพืช เช่นแป้งมันสำปะหลัง หรืออ้อย เป็นต้น ที่เป็นความหวังว่าจะสามารถสลายตัวได้ที่อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมเป็นเวลา 6 เดือน แต่ก็มีการวิพากษ์ทางเน็ตว่า พลาสติกชีวภาพสุดท้ายแล้วจะมีการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่สร้างปัญหาต่อไป และเมื่อพิจารณาถึงตลอดชั่วชีวิตตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถูกใช้งานและนำไปกำจัด หรือ Life Cycle Assessment:LCA แล้ว น่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าพลาสติกที่ทำจากฟอสซิลหรือน้ำมันเสียอีก ดูเหมือนว่าเรากำลังวิ่งเข้าสู่ทางตันหรือไม่
สิ่งแรกที่จะเล่าสู่กันฟังคือ เรามองพลาสติกเป็นตัวประหลาดยักษ์ที่ทำลายล้างโลกใบนี้และทำให้เกิดปัญหามากมายที่แก้ไขไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญนั้น คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของพลาสติกหลายอย่างที่ตอบโจทย์ยากๆ และทำให้เรามีชีวิตที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคงสภาพในรูปแบบต่างๆ การทนทานต่ออุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมาก หรือความสามารถในการโปร่งแสง ทึบแสง การทนต่อการแรงกระแทกและอื่นๆ ทำให้เราสามารถพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ตอบโจทย์ได้เกือบในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่ถ้วยชาม คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน รถยนต์ เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ปัญหาหลักคือการกำจัดซาก และจะส่งผลอย่างยิ่งยวดหากเราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ เม็ดบีดส์ในเครื่องสำอาง ขวดน้ำ หลอด แก้วกาแฟเย็น แกลลอนน้ำมันเครื่อง หรือถุงปูนซีเมนต์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างขยะอย่างมหาศาลและส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับสภาวะแวดล้อมและสัตว์น้ำ หรือแม้กระทั่งสัตว์ปีกอย่างที่ทราบกัน
เราจึงควรที่จะพิจารณาลด ละ เลิกใช้พลาสติกดังกล่าวให้มากที่สุด หรือนำมารีไซเคิล แต่พลาสติกนั้น ไม่เหมือนโลหะอย่างเหล็ก หรืออลูมิเนียม ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลโดยใช้ความร้อนหลอมแล้วกลับเป็นวัตถุดิบได้เลยเกือบสมบูรณ์ จากการที่พลาสติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เมื่อนำมารวมกัน จะทำให้ไม่สามารถที่จะรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ เช่น ถ้าเป็นขวดน้ำพลาสติก PET หากถูกนำไปทิ้งรวมกับแกลลอนน้ำมันเครื่องหรือพลาสติกอื่นๆ ก็ไม่สามารถที่จะรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อทำขวด PET หรือแกลลอนน้ำมันเครื่องได้ หรือแม้แต่เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเสื้อผ้าหรือหมวกจากเส้นใยของ PET ต่อก็ไม่ได้ จึงต้องเข้าใจว่าพลาสติกทุกประเภทแตกต่างกัน หรือเมื่อมีพลาสติกชีวภาพหรือ bioplastic ปนเปื้อนกับพลาสติกทั่วไป การรีไซเคิลก็จะมีปัญหา จึงพูดได้ว่าการรีไซเคิลพลาสติกที่ดีนั้น ต้องจำแนกประเภทให้ชัดเจน แม้ว่าจะเป็นพลาสติกที่มาจากฟอสซิลด้วยกันก็ตาม ยิ่งถ้าผสมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเข้าไปอีก ทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันคงจะเป็นการนำมาถมทำเป็นพื้นถนน
แต่ยังมีการมองแย้งอีกมุมหนึ่งว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดส่ง การใช้งาน การรีไซเคิล และการกำจัดซาก (From Cradle to Grave) หรือ LCA ของพลาสติกชีวภาพอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ carbon footprint สูงกว่าพลาสติกจากฟอสซิล ซึ่งก็น่าจะต้องอธิบายให้เจาะจงว่า การกำจัดซากดังกล่าวนั้นเป็นการจัดการโดยวิธีใด เช่น ถ้านำไปฝังกลบในชั้นดินที่มีการย่อยสลายแบบไร้อากาศ (anaerobic digestion) ซึ่งหมายถึงการสลายขยะโดยแบคทีเรียในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน PLA น่าจะปล่อยก๊าซมีเทนที่สร้างภาวะเรือนกระจกที่สูงกว่า แต่ถ้าหากนำไปเผา พลาสติกที่ทำจากฟอสซิลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการจัดการพลาสติกทุกประเภท หากนำไปรีไซเคิลเพื่อแปรรูปกลับมาใช้งานได้มากกว่าหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกจากฟอสซิลหรือชีวภาพ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีของพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก (compostable) แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว ควรมีการคัดแยกแล้วนำมาแปรรูปกลับมาใช้งานใหม่ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงไปใช้อุปกรณ์อื่นๆ ทดแทน เช่น แก้วน้ำแบบพกพา ปิ่นโต ถุงผ้า เป็นต้น และผู้บริโภคอย่างผม อย่างท่าน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการคัดแยกประเภทขยะก่อนนำไปทิ้ง
คงต้องบอกว่า พลาสติกชีวภาพนั้นออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับการสลายตัวเพื่อเป็นปุ๋ยต่อไป จึงควรใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เมื่อเราใช้พลาสติกอย่างชาญฉลาดและรักษ์โลก เราก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองด้านหรือ The best of both worlds ครับ