TH

30 May 2019

จากโดราเอม่อน สู่ Singularity

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน พฤษภาคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

สมัยเด็กๆ ผมคิดว่าพวกเราทุกคนมีการ์ตูนที่ชอบ ยิ่งเป็นหนังหรือการ์ตูนเชิงวิทยาศาสตร์ในอนาคต หรือ Science Fiction -SciFi ก็ยิ่งน่าจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นและเร้าใจ ผมว่าเรื่องหนึ่งที่ไม่ล้าสมัยเลยคือ โดราเอม่อน ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1969 มาจนถึงปัจจุบันก็นานกว่า 50ปี และความที่เป็นแมวที่ถูกส่งมาจากอนาคตจึงมีของเล่น (gadgets) มากมายจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในกระเป๋าของโดราเอม่อน มีของชิ้นหนึ่งที่เรารู้จักกันดีคือ คอปเตอร์ไม้ไผ่ หรือ Take-Koputa ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อใส่บนหัวก็จะสามารถบินไปในที่ใดๆก็ได้ เมื่ออ่านดูในสมัยเด็กก็คิดว่าเป็นแฟนตาซีที่ตื่นเต้น น่าสนใจ แต่คงไม่น่าจะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

เทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังจะเปลี่ยนโลกคือ Unmanned Aerial Vehicle-UAV ซึ่งหมายถึงพาหนะที่บินได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพลขับอยู่บนเครื่อง ซึ่งก็เป็นภาษาอย่างเป็นทางการของ โดรน-Drone ที่เราคุ้นเคยกัน จริงๆแล้วเครื่องบินบังคับก็เป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ในช่วงทศวรรษ 70 (ช่วงใกล้ๆกับการเกิดของโดราเอม่อน) และในทศวรรษล่าสุดนี้ก็มีการพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ อุปกรณ์สื่อสาร และไอทีต่างๆ ทำให้เราเริ่มมีโดรนที่ใช้งานได้จริง อย่างโดรนบินถ่ายรูปจากมุมสูง โดรนแปรอักษร จนถึงโดรนส่งของหรือ Delivery Drone ที่คิดว่าจะเป็นอนาคตของธุรกิจโลจิสติก และทั้งอเมซอนและอาลีบาบาที่ทุ่มทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 ที่ผ่านมาก็มีบริษัท Ehang 184 จากประเทศจีนได้นำเสนอ passenger drone มาแสดงเป็นครั้งแรกในงาน Consumer Electronic Show ซึ่งเป็นมหกรรมอิเลคทรอนิคและเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่งและจัดขึ้นที่ลาสเวกัสเป็นประจำทุกปี passenger drone บางครั้งก็เรียกว่า แท็กซี่โดรน หรือ แท็กซี่ที่บินได้โดยไร้พลขับ ซึ่งก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของเทคโนโลยี ยังมีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง เช่น ระยะทางที่บินได้ ความดังของเสียง ความปลอดภัยและมาตรฐานทางการบินที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีความคาดหวังว่าอาจจะถูกนำมาใช้ก่อนในภาวะธุรกิจเฉพาะเร่งด่วน เช่น air ambulance ที่ต้องการช่วยเหลือคนป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพที่การจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหามาก คาดกันว่าในสิบปีข้างหน้า อาจจะเห็น passenger drone อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และอาจจะเหมือนกับ Take-koputa สักวันในอนาคตนะครับ

ส่วนอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งในกระเป๋าของโดราเอม่อนคือ ประตูสารพัดที่หรือ Doko Demo Doa ซึ่งถ้าจำกันได้ก็คือประตูที่สามารถจะส่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือตัวโนบิตะและเพื่อนไปที่ไหนก็ได้ที่อยากไปโดยไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง และในหนัง SciFi ของทางตะวันตกก็มีเรื่อง Star Trek ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 1979 หรือสิบปีให้หลังจากโดราเอม่อน ที่พูดถึง Tele-transporter หรือการแปลงสิ่งของหรือคนให้เป็นมวลสารหรือพลังงานเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง จากนั้นจึงแปลงพลังงานหรือมวลสารดังกล่าวกลับมาเป็นสิ่งของหรือผู้คนที่เราส่งไป ซึ่งแม้จะส่งผลอย่างเดียวกัน แต่ก็มีการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ดูเป็นเหตุผลมากขึ้น

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนสหัสวรรษหรือในทศวรรษ 90 เรายังส่งจดหมายเป็นฉบับเพื่อการสื่อสาร หรือถ้าจะส่งเอกสาร สัญญา ภาพถ่ายหรือแบบเขียนขนาดใหญ่ให้ถึงเร็วภายในสามวันห้าวัน ก็ต้องส่งทางอากาศ ค่าจัดส่งครั้งละหลายร้อยถึงหลายพันบาท ถ้าเทียบเป็นเงินปัจจุบันก็เป็นเงินหลายหมื่นบาทหรืออาจะถึงหลักแสนบาท ต่อมาเมื่อมีอีเมล์ ก็ทำให้การส่งจดหมายที่เป็นฉบับเป็นสิ่งที่ทั้งเสียเงินและเสียเวลา แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี การส่งไฟล์ใหญ่ๆยังทำได้ยาก จึงมีการส่งแค่ข้อความ และอาจจะมีภาพลายเส้นบ้างหรือเสียงก็เป็นแบบ melody เท่านั้น เมื่อความสามารถทั้งด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์พัฒนาอย่างก้าวกระโดดหรือ exponential กล่าวคือเมื่อเราเข้าสู่เทคโนโลยี 4จี และมือถือสามารถทำงานได้เทียบเท่า super computer เราก็สามารถส่งสัญญาหนานับร้อยหน้าพร้อมรูปความชัดสูง หรือแบบเขียนการสร้างอาคาร 50 ชั้นผ่านแอปต่างๆในชั่วอึดใจ หรือสามารถดาวน์โหลดภาพยนต์คุณภาพระดับ HD หรือ play list ล่าสุดกว่าร้อยเพลงกับเสียงคุณภาพ HiFi ระดับ Dolby sound system หรือดีกว่าได้ภายในไม่กี่นาที ถ้าย้อนหลังไปไม่ถึงยี่สิบปี สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องมีการผลิตเป็นชิ้นเป็นอัน เช่นเป็นม้วนเทปหรือเป็นแผ่นซีดี ดีวีดี แล้วมีการจัดส่งผ่านการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ เพื่อเดินทางถึงปลายทาง และจัดจำหน่ายถึงผู้บริโภค

ความก้าวหน้าทางการผลิตอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความคิดเรื่อง tele-transporting ก็คือเครื่องพิมพ์ 3D - Three Dimesional Printer หรือ Additive printer เราคงคุ้นเคยกับ printer ที่พิมพ์รูปหรือหนังสือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจัดว่าเป็นเครื่องพิมพ์สองมิติ ส่วนเครื่องพิมพ์สามมิติ แทนที่จะพิมพ์เป็นรูปก็จะพิมพ์เป็นสิ่งของเลย เช่น เป็นรองเท้า เป็นขาเทียม เป็นเก้าอี้ หรือแม้กระทั่งเป็นบ้านทั้งหลัง หรือสะพานเหล็กทั้งสะพาน เป็นต้น ในงาน exponential manufacturing จัดโดยสภาอุตฯ เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีตัวอย่างต่างๆเหล่านี้ ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารในปัจจุบัน เราอาจจะมีเขียนแบบของอุปกรณ์ที่ต้องการจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกผ่าน cloud แล้วอัพโหลดเก็บไว้ในไฟล์ เมื่อต้องการใช้ ก็ดาวน์โหลดเข้าเครื่องพิมพ์แล้วก็จะได้ของที่ต้องการมา โดยไม่ต้องรอกระบวนการผลิตจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินเครื่องจักร การเตรียมแบบพิมพ์ การบรรจุหีบห่อและการจัดส่ง และวิทยากรก็ได้เล่าประสบการณ์จริงให้ฟังคือ เมื่อนักบินอวกาศ ที่ประจำอยู่ในสถานีอวกาศนอกโลก บางครั้งที่มีปัญหา เช่น ประแจหาย หรือข้อต่อสายส่งออกซิเจน มีปัญหาแล้วไม่สามารถทำงานได้ ในอดีตก็จะต้องรอยานลำเลียงส่งของขึ้นมาซึ่งอาจจะปีละครั้ง แต่เมื่อมี 3D printer บนสถานีอวกาศแล้ว สิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถพิมพ์ได้บนยานอวกาศเลย โดยการสั่งการจากสถานีภาคพื้น แล้วใช้งานได้ทันทีในวันถัดไปโดยไม่ต้องรอยานลำเลียง ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา จนนักบินอวกาศเรียกสิ่งนี้ว่า magic box หรือกระเป๋าโดราเอม่อนในความเห็นของผมนั่นเอง หรือกรณีเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ในพื้นที่กันดารเช่น ซีเรีย โดเมนิกา และเนปาล ที่การเดินทางและเข้าถึงได้ลำบาก และเมื่อไปถึง ก็อาจจะนำของที่ติดตัวไปไม่ตรงกับความต้องการ หน่วยกู้ภัยสมัยใหม่จึงนำเครื่องพิมพ์สามมิติ กับเครื่องมือสื่อสารไป เมื่อผู้ประสบภัยต้องการอะไร ก็ส่งไฟล์มาเพื่อสั่งพิมพ์และใช้งานได้เลย ตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่งคืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสำคัญมากแต่อาจจะไม่เพียงพอ การสั่งพิมพ์หน้างานจึงตอบโจทย์ได้ทันที และเครื่องพิมพ์สามมิติแบบมือถือจึงเป็นกระเป๋าโดเรม่อนสำหรับเหล่านักกู้ภัยไปอีกอย่างหนึ่งโดยปริยาย เราจึงเห็นว่า การทำงานในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราจะสามารถสั่งและรับส่งของได้ดังใจ โดยการแปลงมวลสารคือเปลี่ยนรูปสิ่งของเป็นไฟล์อิเลคทรอนิค แล้วส่งไปที่ปลายทางเพื่อแปลงกลับมาเป็นวัสดุหรือสิ่งของที่ต้องการใช้ต่อไป หรือจะพูดง่ายๆว่าเรามีประตูสารพัดที่หรือ Doko Demo Doa เพื่อส่งของ (หรือ tele-transporting)ให้ผู้บริโภคหรือผู้ต้องการปลายทางได้ทันที

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกนี้ เกิดขึ้นอย่างเร็วมาก และพัฒนาในเชิงก้าวกระโดดแบบ exponential จนกระทั่งถึงจุดที่เทคโนโลยีจะถูกพัฒนาจนมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ในทุกๆด้าน ซึ่งจุดดังกล่าวนี้เรียกว่า Singularity point คาดกันว่าคงไม่ใกล้แต่ก็อาจจะไม่ไกลนัก แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ ทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นบ่อยครั้งจะคล้ายกับเป็นการต่อยอดจากหนัง SciFi ที่เราเคยอ่าน เคยดูในวัยเด็ก หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีในโลกนี้ก็คือการต่อยอดจากจินตนาการในวัยเด็กนั่นเอง ผมเองก็ว่าจะกลับไปอ่านการ์ตูนโดราเอม่อนอีกสักรอบ เห็นผู้แต่งบอกว่า แมวตัวนี้มาจากศตวรรษที่ 21 !!!