30 March 2019
การกลับมาของเครื่องบินเหนือเสียง
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มีนาคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านที่ชอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเคยได้ดูเรื่อง Sabrina หรือไม่ หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1954 นำแสดงโดย Audrey Hepburn และ Humphrey Bogart ซึ่งเป็นดาราที่สวยสง่าและโด่งดังมากในสมัยนั้น เข้ามาใกล้อีกหน่อยหนังเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างใหม่ในปี 1995 แสดงนำโดย Julia Ormond และ Harrison Ford อันนี้อาจจะใกล้ตัวกับท่านผู้อ่านมากขึ้น แต่ก็กว่ายี่สิบปีแล้ว เป็นหนังรักโรแมนติก ประมาณซินเดอเรลล่าสมัยใหม่ เมื่อมหาเศรษฐีกิจการขนาดใหญ่หลงรักลูกสาวคนขับรถ แต่นางเอกที่เป็น ลูกสาวคนขับรถแอบหลงรักน้องชายเพลย์บอยของเศรษฐี จะเรียกรักสามเส้าก็ได้ ในตอนท้ายนางเอกต้องการหนีความวุ่นวายเลยบินไปปารีส แต่พ่อมหาเศรษฐีหรือ ไลนัส ลาราบี้ (Linus Larrabee) คิดได้และตามไปขอคืนดีแบบแอบเซอร์ไพรส์ จึงถือโอกาสบินด้วยคอนคอร์ด ซึ่งเป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง และใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องบินจัมโบ้ที่ใช้เวลาประมาณแปดถึงเก้าชั่วโมง แล้วไปดักรอนางเอกที่อพาร์ตเมนต์ในกรุงปารีส ก่อนที่จบอย่าง Happy Ending ก็เป็นหนังสนุกน่ารักที่ได้รับเสนอเข้าชิงรางวัล Golden globe ทั้งสองครั้ง
เครื่องบินคอนคอร์ดน่าจะเป็นวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอากาศยานในทศวรรษ 70 เมื่อเครื่องบินสามารถบินได้ที่ความเร็ว 2.04 มัค หรือสองเท่าของความเร็วเสียง (เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน บินที่ความเร็วประมาณครึ่งหนึ่ง หรือต่ำกว่าความเร็วเสียงเล็กน้อย) แต่เนื่องจากการบินด้วยความเร็วสูงย่อมหมายถึงการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นด้วย (ให้นึกถึงรถสปอร์ตหรือเวลาเราขับรถด้วยความเร็วสูงมาก) ว่ากันว่าค่าตั๋วโดยสารระหว่างลอนดอนและนิวยอร์ก ถ้าบินด้วยเครื่องบินคอนคอร์ดจะสูงกว่าตั๋วปกติถึง 20-30 เท่าทีเดียว มิน่าถึงต้องมหาเศรษฐีอย่างในหนังถึงจะเอื้อมถึง ประเด็นถัดมาคือ เสียง หรือ sonic boom คือคลื่นเสียงที่เกิดจากวัสดุที่วิ่งในอากาศด้วยความเร็วเหนือเสียงและทำให้เกิดคลื่นเสียงที่ส่งเสียงดังและบางครั้งอาจจะกระทบสมรรถภาพในการฟังของเรา ทำให้เครื่องบินดังกล่าวจะบินเร็วกว่าเสียงเฉพาะช่วงบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และบินด้วยความเร็วเพียงครึ่งหนึ่งเมื่ออยู่เหนือพื้นดิน ก็ทำให้กินน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก เพราะเครื่องยนต์ไม่สามารถทำงานที่จุดที่ได้ออกแบบไว้ อีกทั้งเครื่องบินดังกล่าวมีแค่สองสายการบินที่นำมาบินเป็นหลักคือ British Airways และ Air France แม้ว่าค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงทำให้สายการบินไม่ขาดทุน แต่ต้นทุนการบำรุงรักษาสูงมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ 911ที่นิวยอร์คในปี 2001 ประกอบกับอุบัติเหตุเครื่องบินคอนคอร์ดตกในปีก่อนหน้า ทำให้ในปี 2003 เครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางไป
ทางทีมตั้งเป้าว่ายี่สิบปีหลังการปลดระวางของคอนคอร์ด หรือในปี 2023 จะมีเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงมาบินในเชิงพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าความเร็วในการบินในช่วงต้นจะประมาณ 1.4 มัค และคาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็น 1.8 มัคในระยะอันใกล้ ซึ่งไม่เร็วเท่าเครื่องบินคอนคอร์ด แต่ก็เร็วกว่าเครื่องบินปัจจุบันประมาณ 50-100% หรือเราสามารถบินไปยุโรป อังกฤษได้ภายใน 6-8 ชั่วโมง จากที่ต้องบิน 12 ชั่วโมงในปัจจุบัน แม้ว่าในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจากเครื่องบินธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 14 ที่นั่ง แต่ก็คาดว่าในอีกไม่นานคงสามารถพัฒนาเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ เมื่อถึงเวลานั้น พวกเราคงไม่ต้องเป็นมหาเศรษฐีอย่างไลนัส ลาราบี้เพื่อที่จะบินด้วยความเร็วเหนือเสียง และโลกใบนี้คงจะเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นอีกทั้งประสิทธิผลหรือผลิตภาพของอุตสาหกรรมจะดีขึ้น และลดการบริโภคทรัพยากรครับ