TH

28 February 2019

รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองกับธุรกิจค้าปลีก

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีบริษัทค้าปลีกขนาดยักษ์ในเมืองไทยลงทุนในธุรกิจ Ride hailing หรือการแชร์รถโดยสารเจ้าหนึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ขณะเดียวกัน Amazon ที่ไม่ใช่ร้านกาแฟแต่เป็นบริษัทค้าปลีกขนาดยักษ์ของโ+ลก (น่าจะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) ก็ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจรถขับเคลื่อนด้วยตนเองเช่นกัน โดยลงทุนในบริษัท Start up ชื่อ Aurora รวมกับผู้ลงทุนรายอื่นเป็นเงินกว่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ

เริ่มแรกเรามาทำความเข้าใจกับรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งในภาษาอังกฤษสามารถเรียกได้หลายแบบ แต่ที่นิยมคือ Autonomous Vehical; AV หรือ Self-driving car ซึ่งจะต่างจากรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ Electrical Vehical; EV แม้ว่าในอนาคตเมื่อรถส่วนใหญ่เป็น EV แล้วจะทำให้การพัฒนาของ AV สามารถต่อยอดได้ง่ายขึ้น แต่การที่รถจะสามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองนั้น รถเติมน้ำมันที่เราใช้อยู่ทั่วไปก็สามารถที่จะเป็นรถ AV ได้ และในโลกปัจจุบัน เราแบ่งความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตนเองของรถเป็น 5 ระดับ ซึ่งระดับ 1 จะเป็นระดับที่ต่ำสุด เช่น cruise control, lane assist เป็นต้น ขณะที่ระดับ 5 เป็นระดับสูงสุด ที่ไม่ต้องใช้คนขับเลย และยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่สามารถพัฒนาระบบถึงระดับ 5 ได้ ไม่ว่าจะเป็น Waymo ของ Google หรือผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นระดับ 3 หรือระดับ 4 ต้นๆ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้เซ็นเซอร์อย่าง LiDAR; Light Detection and Ranging ที่ใช้แสงเป็นตัวช่วยในการวัดระยะ ประมาณการ เพื่อการขับเคลื่อน โดยในระดับ 3 หมายถึงรถสามารถขับเคลื่อนที่ความเร็ว 60 กม.ต่อชม. โดยไม่ต้องใช้คนขับเลย ขณะที่ระดับ 4 จะสามารถขับได้ด้วยตนเองได้มากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดเช่น แยกความแตกต่างระหว่างเมืองชั้นในหรือทางด่วนไม่ได้ เป็นต้น และยังต้องมีคนขับช่วยในการตัดสินใจที่สำคัญ

ว่ากันว่าเมื่อ 5G ใช้กันอย่างแพร่หลายและเมื่อรถยนต์ทุกคันสามารถคุยกันผ่าน IoT และ 5G แล้ว การที่รถ AV จะสามารถไต่ระดับถึงระดับ 5 คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป และสิ่งที่ตามมาอย่างที่เราคาดกันก็คือการบริหารข้อมูลอย่างมหาศาล ไม่ว่าพฤติกรรมการบริโภค ข้อมูลการเดินทาง และต่างๆ อีกมากมาย แต่นักการอนาคต (Futurist) กลับมองต่างออกไป เขากลับมองว่าพฤติกรรมการใช้รถเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ห้องโดยสารจะเหมือนห้องนั่งเล่น (living room) มากขึ้น เมื่อคนไม่ต้องนั่งจดจ้องอยู่หน้าพวงมาลัย ย่อมหมายความว่าเราจะทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น (คงเหมือนผู้บริหารที่มีคนขับรถ และนิยมนั่งรถตู้โดยสารในการเดินทาง) ไม่นั่งทำงาน ก็อาจจะนั่งดูหนังฟังเพลง หรือแม้กระทั่งการ shopping online ซึ่งหมายถึงระบบ infotainment ของรถน่าจะเปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญคือ รถที่ใช้บริการจะไม่มีเจ้าของ หรืออาจจะเป็นที่เรียกว่า robotaxi คือรถที่วิ่งรับส่งคนตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีคนขับ platform สำคัญที่ตามมาคือเรื่องการบริหารจัดการการขนส่ง (fleet management and logistic) อันเป็นสองแพลทฟอร์มที่สำคัญมากในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเห็นว่าไม่ว่ายักษ์ใหญ่ทางไอทีหรือผู้ผลิตรถรายใหญ่ต่างมองถึงความสำคัญดังกล่าว และชิงกันปักธงในส่วนนี้ โดย google มีความตั้งใจจะพัฒนา waymo เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและเป็นแพลตฟอร์มเหมือนกับ google store หรือ iTunes Store ของแอปเปิล ขณะที่ผู้ประกอบการรถยนต์จะสร้างระบบนิเวศน์ (Eco system) ขึ้นมา โดยรวบรวมเทคโนโลยีในแต่ละด้าน เช่น ด้านเซ็นเซอร์ ด้านประมวลผล หรือด้านแผนที่ โดยมีผู้ผลิตรถยนต์เป็นศูนย์กลาง แล้วพัฒนาไปด้วยกัน น่าสนใจเหมือนกันว่าโมเดลไหนน่าจะประสบความสำเร็จ

สำหรับธุรกิจค้าปลีก นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจจะใช้จ่ายบนรถโดยสารมากขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ การส่งของถึงบ้าน วันนี้โดยเฉพาะรุ่นมิลเลนเนียมมักจะสั่งทางออนไลน์แล้วให้มาส่งถึงบ้านหรือที่ทำงานแล้วแต่กรณี ซึงการจัดส่งหรือ logistic น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ วันก่อนก็เห็น Alibaba ลงทุนในธุรกิจจัดส่งของโดยโดรน ซึ่งสามารถบินได้เป็นหลักหลายกิโลเมตรเป็นต้น วันนี้ ride hailing ต่างๆ นอกจากส่งคนแล้วก็เริ่มส่งอาหาร และคาดว่าจะมีการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคตามมาในไม่ช้า และที่จะพัฒนาต่อไปคือการส่งโดยไม่ต้องใช้คนขับ driverless car delivery ซึ่งนอกจากตอบโจทย์เรื่องการจ้างงานแล้วยังตอบโจทย์เรื่อง aging society อีกด้วย กล่าวคือ ผู้อาวุโสที่นอกจากไม่อยู่ในระบบแรงงานแล้วยังจะเป็นผู้บริโภคตามกลุ่มมิลเลนเนียมอีกด้วย เราจึงเห็นถึงเทรนด์การลงทุนเพื่ออนาคตของธุรกิจค้าปลีกในระยะนี้

เมื่อเราสังเกต จะเห็นว่าในอนาคตนี้นอกจากความตั้งใจที่จะสร้างสังคมให้น่าอยู่ผ่านกระบวนการดูแลโลกให้เขียวและยั่งยืนแล้ว อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือการร่วมมือร่วมใจ collaboration ของอุตสาหกรรมที่ช่วยกันทำงานร่วมกัน และการรวมตัวหรือ convergent ของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ