30 January 2019
รถคันใหม่ปีใหม่นี้ ควรเป็นรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า?
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มกราคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
หลายคนเมื่อเข้าสู่ปีใหม่หรือตรุษจีน หลังจากได้รับโบนัส อั่งเปาแล้ว เริ่มมีความคิดที่จะถอยรถใหม่สักคัน และคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ คือ รถคันต่อไปควรจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งคันแบบเทสล่าหรือยัง? ข้อดีของรถดังกล่าว เราคงได้ยินกันมามากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีอัตราเร่งดีมาก เผลอๆ จะเร็วกว่ารถแข่ง หรือเป็นรถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนน้อยมาก ทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ง่ายกว่ารถใช้น้ำมันในปัจจุบันมากมาย อีกทั้งมีซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่มีสมองกล (Artificial Intelligence; AI) เรียนรู้วิธีการขับรถของเรา แล้วทำให้คล่องตัวและสะดวกขึ้น จดจำสถานที่เราเดินทางไปบ่อยๆ แล้วมีการแนะนำเส้นทางที่เร็วและสั้นที่สุด หรือแม้กระทั่งขับรถแทนเรา (autonomous driving) และแน่นอนที่สุดคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยสารที่เป็นมลภาวะออกมาระหว่างที่มันทำงานอยู่ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตราย หรือ pm2.5
ยิ่งเมื่อติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือ Battery Electric Vehicle: BEV แล้ว ยิ่งรู้สึกว่าโลกจะหมุนไปทางนี้แน่นอน ไม่ว่าข่าวล่าสุดที่ หนึ่งในสามคันของรถที่จำหน่ายในประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นรถ BEV ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของโลก หรือศาลที่ประเทศเยอรมนีสั่งห้ามรถดีเซลวิ่งในเมืองเบอร์ลิน แฟรงเฟิร์ต แมนส์ สตุ๊คการ์ด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งข้อมูลยอดขายของเทสล่า โมเดล 3 ที่ขายได้เยอะกว่าคู่แข่งทุกยี่ห้อในอเมริกาเหนือ เมื่อเทียบกับ BMW series 3 หรือ Benz C class เมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา หรือ ข้อมูลจาก Bloomberg New Energy Finance: BNEF ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย พบกว่า รถ EV หนึ่งล้านคันแรกใช้เวลานับปี ขณะที่ล้านที่สองใช้เวลา 17 เดือน จากปี 2014-2016 และจากล้านที่สามสู่ล้านที่สี่ใช้เวลาแค่หกเดือนในปีที่ผ่านมา เป็นต้น ผมว่าผู้บริโภคหลายท่านคงไขว้เขวว่า ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ น่าจะต้องเลือกเหมือนที่ชาวยุโรปหรืออเมริกันเขาเลือกกันดีไหม
เมื่อเราวิเคราะห์ดู จะเห็นว่า BEV ส่วนใหญ่ที่ขายได้นั้น จะเป็นรถที่อยู่ในเซกเมนต์พรีเมียม และจะถูกเทียบกับรถยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนหลักยังมีราคาค่อนข้างสูง แม้แต่ในสหรัฐหรือนอร์เวย์ก็ยังมีการอุดหนุน (subsidy) ด้านราคาจากภาครัฐอยู่พอสมควร โดยราคาตัวรถก่อนภาษีสรรพสามิตของประเทศไทยก็ยังอยู่ที่ 1.5-2 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งเป็นราคาของรถที่ประเภทราคาย่อมเยาหรือ mass market model (เทสลา โมเดล 3 ราคาก่อนรัฐบาลอุดหนุนอยู่ที่ $50,000) เมื่อเทียบกับรถ eco car ของเราที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หลังภาษีแล้ว หรือรถเทสล่า เอส ซึ่งเป็น SUV จะแพงกว่ารถประเภทเดียวกันของค่ายยุโรปกว่าเท่าครึ่ง ดังนั้นถ้าท่านที่จะซื้ออาจต้องเผื่อใจในส่วนของราคารถอยู่พอสมควร
อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยคือ มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยหรือไม่ และศูนย์ซ่อมและบริการเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าชิ้นส่วนของรถ BEV มีน้อยกว่ารถใช้น้ำมัน แต่การดูแลแบตเตอรี่ การดูแลซอฟต์แวร์รถยนต์ และส่วนประกอบอื่นๆ ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก BNEF ว่า สถานีชาร์จไฟสาธารณะในสหรัฐมีกว่า 50,000 แห่ง แต่มีปั๊มน้ำมันกว่า 100,000 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมในแต่ละปั๊มมีหลายหัวจ่าย และใช้เวลา 3-4 นาทีในการเติม เมื่อเทียบกับ 30-40 นาที สำหรับ quick charge อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีของแบตเตอรี่จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและ Solid state lithium ion battery จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทั้งราคาและความจุ (หรือคือระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้) สามารถแข่งขันกับรถใช้น้ำมันได้ ซึ่งมองกันว่าในปี 2025-30 น่าจะได้เห็นรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ solid state ดังกล่าวในท้องถนน อีกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จประจุที่คาดว่าต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และระบบสายส่งไฟฟ้าและสถานีจ่ายไฟย่อยที่ต้องเตรียมตัวรองรับการชาร์จ โดยเฉพาะ quick charge ของรถ BEV
อายุการใช้งานของรถหนึ่งคันอยู่ที่ 6-10 ปี ซึ่งคิดว่าใน 10 ปีข้างหน้า เราน่าจะเห็นทั้งการพัฒนาของแบตเตอรี่รถยนต์และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนขึ้น แต่ในระหว่างนี้เราก็สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้รถที่มีการปล่อยมลภาวะต่ำเช่น Hybrid EV หรือ Plug-in Hybrid EV ที่มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้มาตรฐานยูโร 5 เช่น E20 หรือ premium diesel ที่ได้มาตรฐานดังกล่าว น่าจะเป็นทางเลือกที่รักษ์โลกอีกทางหนึ่ง และช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 อีกด้วย