30 December 2018
ปีใหม่กับความตั้งใจ
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน ธันวาคม 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
อีกไม่กี่วันก็ปีใหม่แล้วนะครับ วันเวลาผ่านไปเร็วจริงๆ จำได้ว่าพึ่งไม่นานนี้เองที่ได้รับเกียรติให้เขียนคอลัมน์นี้ ตอนนี้ได้มีโอกาสแบ่งปันความคิดความเห็นมาร่วม 4 ปีแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านยังสนุกกับการอ่านนะครับ
ทุกปีใหม่ตามธรรมเนียมไทยจะมีการสวดมนต์ข้ามปี หรือทำบุญปีใหม่ ส่วนธรรมเนียมฝรั่งก็อาจจะตั้งเป้าว่าปีหน้าจะต้องมี new year resolution บางอย่าง เช่น จะออกกำลังกายอาทิตย์ละสามวันเพื่อลดน้ำหนัก 5 กก หรือจะตั้งใจเก็บเงินวันละ 300 บาท เพื่อไปดาวน์บ้านสักหลัง เป็นต้น วันนี้ผมขออนุญาตตามธรรมเนียมฝรั่งชวนพวกเรามาตั้งเป้าปีใหม่ว่า ‘เราจะพยายามใช้เครื่องใช้ต่างๆให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง’ อันนี้ไม่รวมถึงของที่ต้องใช้แล้วทิ้งจริงๆ เช่น กระดาษชำระหรือพลาสเตอร์ติดแผลเป็นต้นนะครับ (ฮา)
สมัยก่อน เราถูกปลูกฝังว่าของที่เราใช้ ยี่ห้อไหนใช้ได้นานหรือทนกว่ากัน จำได้ว่าตอนเรียนมัธยม จะแข่งกับเพื่อนว่าใครใส่รองเท้าผ้าใบได้ทนกว่ากัน โดยของผมเป็นของคนไทยชื่อจีน ขณะที่ของเพื่อนเป็นชื่อที่คล้ายๆ กับคำว่าเท้า แต่น่าจะเป็นยี่ห้อของยุโรป สุดท้ายจะเป็นของเพื่อนที่หัวแม่โป้งโผล่ก่อน ซึ่งอาจจะเกิดจากเขาเตะบอลขุดดินมากกว่าผมก็ได้ เมื่อมาทำงานก็จะถือกระเป๋าหนังที่แข่งกันถึงความทนทาน ถ้ากระเป๋าของใครดูเก่า จะเป็นคนที่เก๋าและเท่ห์สุดๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านก็จะพูดถึงความทนทาน เช่น คอมเพรสเซอร์ยี่ห้อนี้ใช้งานได้เป็นสิบปีไม่มีปัญหาจุกจิก แม้แต่รถยนต์ที่เราขับกว่าจะเปลี่ยนรุ่น จะใช้เวลาประมาณ 6-8 ปี ยิ่งรถยุโรปยิ่งใช้นานกว่า และที่สำคัญคืออุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆเหล่านี้ถ้าเสียก็จะมีการซ่อมแซม เพื่อต่ออายุอุปกรณ์ให้ใช้ได้นานที่สุด
ว่ากันว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 80 หรือต้นทศวรรษ 90 เป็นครั้งแรกที่มีการผลิตเครื่องโกนหนวดใช้แล้วทิ้ง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพึงพอใจอย่างมาก เนื่องจากราคาไม่แพง ใช้สะดวก ไม่ต้องมีปลั๊กไฟหรือแบตเตอรี่ โกนง่าย และเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ซื้อใหม่ถูกกว่าและคมกว่า ทำให้เป็นการสร้าง business model ใหม่ขึ้นมาในโลกนี้ ที่บริษัทไม่จำเป็นต้องผลิตของดีมีคุณภาพและทนทาน แต่เป็นการตอบโจทย์ความพอใจขณะนั้น และบริษัทผู้ผลิตก็สามารถเพิ่มยอดและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงต้นของตลาดทุนโลก (capital market) ที่ผู้ถือหุ้นมีความพึงพอใจต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัท จนเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของบริษัทชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคบริโภค ที่จะเร่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายและตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น ไม่ว่ารถยนต์ค่ายยุโรปที่เปลี่ยนรุ่นทุกสามปี หรือโทรศัพท์มือถือที่มีโมเดลใหม่ทุกปี เวลาต่อมาเราจะเห็นถึงความแพร่หลายของทฤษฎีนี้ในเกือบทุกวงการ ตั้งแต่ตะเกียบกินข้าว กลายเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง หรือสบู่ แชมพูในโรงแรมที่ใช้ไม่หมดก็ทิ้ง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเร่งและสะสมเพิ่มเติมจากถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือหลอดพลาสติกที่เรารณรงค์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
ขยะกว่าหมื่นล้านตันที่คงค้างอยู่ในโลกใบนี้หรือภาวะโลกร้อน สุดท้ายมีผลกระทบจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้น การที่ใช้ชีวิตในวิถีที่ทำให้ทรัพยากรหมดไปอย่างรวดเร็ว หรือการใช้จ่ายที่ฟุ่มเพื่อย ก็น่าจะมีการทบทวนใหม่ หรือย้อนกลับไปมีพฤติกรรมการบริโภคหมือนสมัย 20-30 ปีก่อนน่าจะดีกว่า เหมือนกับที่มีใครเคยกล่าวว่า ‘ถ้าเราอยากให้โลกใบนี้น่าอยู่เหมือนที่เราเคยอยู่มา ก็จงดำเนินชีวิตในวิถีทางที่บรรพบุรุษของเราเคยทำ ที่คำนึงถึงความทนทานและยั่งยืนของอุปกรณ์มากกว่าแฟชั่น’ พยายามซ่อมแซมวัสดุก่อนที่จะซื้อใหม่ หรือพยายามใช้จนวัสดุนั้นหมดอายุขัยไป รวมถึงการตักอาหารให้พอดีและไม่เหลือทิ้งนะครับ