30 June 2018
จากพลังงานหมุนเวียน สู่เศรษฐกิจวนเวียน
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มิถุนายน 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ตั้งแต่คนไทยรู้จักการใช้พลังงานชีวภาพ ไม่ว่าจากกากน้ำตาล มันสำปะหลัง หรือผลปาล์ม โดยมีจุดเริ่มต้นจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่ทรงแนะนำและทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ปวงชนชาวไทยได้รู้จักการใช้พลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 ต่อมา เมื่อราคาน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้น ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ที่เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน และเป็นตัวอย่างให้อีกหลายประเทศในเอเชีย แม้กระทั่งประเทศจีน นำไปปฏิบัติ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาคเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพหลักของคนไทย นับเป็นศาสตร์พระราชา ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับประชาชนชาวไทย
ในช่วงต้น เราเรียกว่า “พลังงานทดแทน” โดยคาดว่าในอนาคตอาจจะสามารถทดแทนน้ำมันได้ทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันที่เราบริโภคต่อวันกว่า 1,500 ล้านลิตรทั่วโลก การนำพลังงานชีวภาพมาทดแทนน้ำมันทั้งหมดน่าจะเป็นไปได้ยาก จึงถือเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งในระยะหลัง คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” หรือ “Renewable Energy” น่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจน กล่าวคือ เป็นการหาพลังงานจากแหล่งธรรมชาติ ที่สามารถสร้างใหม่ขึ้นได้ และไม่หมดไป ไม่ว่าจะมาจากพืชพันธุ์ต่างๆ ที่แปลงเป็นของเหลวเพื่อเติมในยานพาหนะ หรือสายลม แสงแดด ที่แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า
ในเมื่อพืชพันธุ์ต่างๆ สามารถแปลงเป็นของเหลวที่ใช้เติมแทนน้ำมันได้ ก็น่าจะพัฒนาต่อยอดไปแทนพลาสติกหรือใยผ้าที่ทำจากน้ำมันดิบได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการทดลองแล้วว่าสามารถทำได้ แต่อาจมีข้อจำกัดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากแต่ละโรงผลิตมีขนาดเล็ก ไม่มี economy of scale หรือกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการผลิตจากน้ำมันดิบ แต่สิ่งที่สำคัญคืออาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากร กล่าวคือแทนที่จะนำพืชพรรณต่างๆ มาเป็นอาหาร กลับนำมาผลิตเป็นพลาสติก ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาหารไม่เพียงพอกับประชากรโลกกว่าเจ็ดพันล้านคนนั่นเอง
ในทุกๆ ปี ผู้นำของโลกทั้งภาครัฐและเอกชน จะพบปะกันที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อหารือประเด็นหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก และเมื่อได้ประเด็นแล้วจะเป็นเรื่องที่ให้ประชาคมโลกช่วยกันผลักดันต่อไป ซึ่งในต้นปีที่ผ่านมาประเด็นขยะพลาสติก เป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับการกล่าวถึง และว่ากันว่าถ้าเราปล่อยไปโดยไม่ทำอะไร ในปี ค.ศ.2050 จะมีเม็ดพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าประชากรปลา และปลาซึ่งกินเม็ดพลาสติกต่างๆ เหล่านี้ ก็จะมาเป็นอาหารของมนุษย์ สุดท้ายเราจะเป็นผู้รับประทานขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลเหล่านี้ จึงควรจะมีการบริหารจัดการเพื่อลดการใช้การบริโภคพลาสติก โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตจากฟอสซิลที่ไม่สามารถย่อยสลายหรือใช้เวลากว่า 500 ปีในการย่อยสลาย
ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ในประเทศฝรั่งเศสเริ่มไม่ให้ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก หรือพลาสติกที่ใช้ห่ออาหารเข้าไมโครเวฟ หรือในประเทศอังกฤษ ห้าง ร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะเก็บเงินค่าถุงพลาสติก แม้กระทั่งสินค้าแบรนด์ดังทั่วโลกประกาศจะใช้พลาสติกจากพืชเป็นหลักในปี ค.ศ.2030 เป็นต้น
พลาสติกจากพืชหรือ Plant Plastic นั้น หลายประเภทสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันสั้น เสมือนหนึ่งกระดาษหรือเปลือกส้ม เปลือกกล้วย ซึ่งเป็นการคืนรูปสู่ธรรมชาติที่ดีที่สุด ช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์วิทยา แม้ว่าพลาสติกจากพืชบางประเภทจะไม่สามารถย่อยสลายในระยะสั้น ก็ยังสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ในขณะที่พลาสติกจากฟอสซิล เช่น Wrap สำหรับไมโครเวฟ หรือบีทในโฟมล้างหน้า ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เราจึงเห็นว่าการทำพลาสติกจากพืชเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมากที่ทำให้เราสามารถลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและหมดไป ที่ฝรั่งเรียกว่า Circular Economy หรือผมแอบเรียกว่า “เศรษฐกิจวนเวียน” คือใช้แล้ววนเวียนกลับมาใช้อีก หรือไม่ก็วนเวียนปลูก เพื่อนำมาใช้อีกในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งโดยไม่เป็นภาระให้ลูกหลานคอยแก้ปัญหาที่เราสร้างไว้ หากเราช่วยกันบริโภคพลาสติกจากพืชมากขึ้น ก็หวังว่าจะเกิดปรากฏการณ์เหมือนกับแผงโซลาร์เซลล์ที่จะผลักดันให้ต้นทุนราคาถูกลงและแข่งขันได้ครับ