TH

27 November 2020

วัคซีนโควิดกับสตาร์ทอัพ

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2563
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้ร่วมเสวนากับ World Economic Forum ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับการที่ประเทศหนึ่งๆ พึ่งพาแหล่งพลังงานจากฟอสซิลน้อยลงอย่างไร และมีการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด โดยทาง WEF ได้พัฒนาดัชนี Energy Transition Index (ETI) เพื่อเป็นตัวเทียบวัดถึงขีดการพัฒนาของแต่ละประเทศ ประเทศไทยก็มีดัชนี ETI ที่ในระดับกลางๆ คือในอันดับที่ 53 ของโลก จากทั้งหมด 115 อันดับ

ผมจะขอเล่าถึงรายแรกที่ประกาศว่าผลเป็นที่น่าพอใจคือ Pfizer/BioNtech ก่อนน่ะครับ โดย BioNtech เป็นสตาร์ทอัพหรือบริษัทวิจัยขนาดเล็กทางด้านชีววิทยาที่ต้องการศึกษาวิธีการทำวัคซีนป้องกันมะเร็งต่างๆ ซึ่งใช้เทคนิคที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มีการรับรองและอาจจะใช้เวลาอีกนานที่จะยอมรับถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โควิด โดยปกติแล้ว วัคซีนป้องกันไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ นั้น วิธีง่ายๆ คือฉีดเชื้อหวัดอ่อนๆ เข้าไปในร่างกายคน เมื่อร่างกายเจอเชื้อดังกล่าว ก็จะสร้างเซลเพื่อทำการต่อสู้และฆ่าเชื้อดังกล่าว เมื่อสำเร็จ ก็จะทำให้คนๆ นั้นมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายรู้ว่าคือเชื้ออะไร และเคยเอาชนะเชื้อดังกล่าวอย่างไร นั่นคือการฉีดวัคซีนทั่วไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

แต่สิ่งที่กลุ่ม BioNTech วิจัยและพัฒนาคือสิ่งที่เรียกว่า messenger RNA หรือ mRNA กล่าวคือ แทนที่จะส่งเชื้ออ่อน วัคซีนนี้ทำหน้าที่เป็นคนถือสาร เพื่อส่งข้อความหรือสัญญาณเข้าไปในร่างกายเพื่อบอกให้ร่างกายรู้ว่ากำลังจะถูกบุกรุกจากไวรัสชนิดไหน แล้วให้ร่างกายเตรียมตัวที่จะต่อต้านหรือกำจัดเชื้อดังกล่าว คงคล้ายกับคำสั่งในคอมพิวเตอร์ หรือการส่งสัญญาณให้เตรียมพร้อมว่าข้าศึกกำลังจะบุกในการสงครามเพื่อให้กองทัพเตรียมตัวให้พร้อม โดยโปรตีนที่จะทำลายข้าศึกได้คืออะไรบ้าง กระบวนการดังกล่าวเป็นการคิดที่แตกต่าง และอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ทางชีววิทยาและการแพทย์ แต่ภาวะโควิดทำให้สามารถนำมาใช้ทางปฏิบัติได้เร็วขึ้น โดย Dr.Ugur Sahin และ Dr.Ozlem Tureci คู่สามีภรรยา เชื้อสายตุรกีที่ครอบครัวของทั้งคู่อพยพไปประเทศเยอรมนี ได้ร่วมกันคิดค้นและก่อตั้งบริษัท BioNTech เมื่อ 12 ปีก่อนเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว ในช่วงต้นนั้น เป็นการวิจัยหาวัคซีนเพื่อต่อต้านมะเร็ง แต่งานวิจัยเดียวกันนี้สามารถใช้กับโควิดได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ หลังจากได้เห็นถึงรายละเอียดของโครงสร้างของไวรัส (genetic code) จากนักวิทยาศาสตร์จีน จึงได้หันมาพัฒนาวัคซีนดังกล่าว เมื่อมีความคืบหน้าและพิจารณาแล้วว่าจะต้องผลิตเป็นจำนวนมาก จึงได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในวงการยาคือ Pfizer เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ในการ scale up หรือขยายขึ้นเป็นธุรกิจ เพราะอย่างที่ทราบว่าหนึ่งคนต้องฉีดสองเข็ม และถ้าต้องให้ประชากรในยุโรปทั้ง 740 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว หมายถึงต้องเตรียมกว่า 1,500 ล้านชุด ซึ่งสตาร์ทอัพคงไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ได้

ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ให้ความสําคัญกับบริษัทขนาดกลางหรือ Mittelstand (คงคล้ายกับ SME บ้านเรา) เมื่อบริษัทต่างๆ ทราบถึงความต้องการและความจำเป็นของการผลิตวัคซีนดังกล่าว เหล่า supply chain ก็มีการเตรียมตัวอย่างเร่งรีบ เช่นหลอดแก้วที่จะต้องบรรจุวัคซีน ซึ่งมีบริษัท 2-3 บริษัทผู้ผลิตที่ได้ประสานงานและเตรียมผลิตอย่างจำนวนมาก โดยสามารถผลิตได้ 1,000 ล้านชิ้นในระยะเวลาอันสั้น อีกประเด็นคือการเก็บรักษาหลอดดังกล่าวต้องเป็นที่อุณหภูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส ระหว่างการขนส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง บริษัทอย่าง Va-Q-Tec ก็เตรียมพร้อมที่จะผลิต thermal box หรือกล่องเก็บความเย็นจำนวนมากเพื่อที่จะประสานกับ DHL ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่ง (Logistic) ระดับโลกของเยอรมนีในการขนส่งทั้งในยุโรปและทวีปอื่นๆ เช่นเอเชีย แอฟริกา เป็นต้น จึงเห็นว่าการทำงานของประเทศเยอรมนีนั้นเป็นระบบและเตรียมพร้อมมาก

เทคโนโลยีของ Moderna นั้น เป็น แบบ mRNA เช่นกัน แต่สามารถเก็บโดยไม่เสื่อมคุณภาพได้ที่ -20 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ต้นทุนการกักเก็บลดลงและน่าจะมีราคาจะต่ำกว่ากลุ่มแรก และก็เห็นว่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา เพื่อเตรียมพร้อมในการ scale up เช่นกัน ส่วน AstraZenaca ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด รัฐบาลอังกฤษ และน่าจะรวมถึงรัฐบาลไทยด้วยในการ scale up นั้น ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมคือ ส่งม้า Trojan หรือเชื้ออ่อนๆ เข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิก่อน และพบว่าถ้าจะให้ได้ผลถึง 90% นั้น ต้องฉีดแค่ครึ่งเข็มในเข็มแรก แล้วเข็มที่สองจึงฉีดทั้งหลอด และด้วยที่เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมจึงน่าจะมีต้นทุนต่ำสุด และน่าจะเอื้อมถึงได้ไม่ยากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

จะเห็นว่าในภาวะโควิดนั้น แม้สตาร์ทอัพในหลายๆ อุตสาหกรรมได้หายไปจากเรดาร์ แต่ทางชีววิทยาและเภสัชกรรมมีการขยายตัวอย่างมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่สตาร์ทอัพทำงานร่วมกับบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่เพื่อให้การขยายเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอยู่รอดของชีวิตเรา ก็หวังว่าทั้งสามบริษัท รวมถึงรายที่สี่คือ สปุตนิก จากรัสเซียประสบความสำเร็จในการผลิตเป็นจำนวนมาก และโลกมนุษย์เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบ old normal ได้โดยเร็วนะครับ