TH

27 September 2021

กางร่มให้โลก Solar Geoengineering

คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน กันยายน 2564
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ซึ่งต้องบอกว่าหลักการดังกล่าวไม่ใช่ใช้ได้เพียงกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเราเท่านั้น ธรรมชาติเองก็ได้จัดสร้างระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วมีการสร้างความสมดุล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในวงจรชีวิตหรือระบบนิเวศน์นั้น ๆ และแม้แต่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ธรรมชาติก็ได้สร้างให้มีข้อดี ข้อเสียเพื่อให้โลกใบนี้อยู่อย่างยั่งยืนนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่จะชวนคุยต่อไปนี้ครับ

เราเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซอีก 3-4 อย่าง ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก แล้วภาวะดังกล่าวทำให้โลกร้อน ที่ส่งผลตามมาหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย เกิดความแปรปรวนของภาวะอากาศ น้ำท่วมฉับพลัน และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงมองกันว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่เลวร้าย และต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าโลกเราไม่มีก๊าซเรือนกระจกเลย ก็จะทำให้เวลาร้อน ร้อนจัด เวลาหนาวก็จะหนาวมาก กลางวันกับกลางคืน อุณหภูมิอาจจะต่างกันจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ดังนั้น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศหรือการมีก๊าซเรือนกระจกบ้างในชั้นบรรยากาศจึงมีความสำคัญอยู่ เนื่องจากจะทำให้โลกเรายังสามารถรักษาความอบอุ่นไว้แม้ในเวลากลางคืน หรือในฤดูหนาวที่โลกหันออกจากดวงอาทิตย์

การปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือ Industrial Revolution (ค.ศ. 1760 ถึง ค.ศ. 1850) ทำให้เรามีการใช้พลังงานกันมากขึ้น และแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในการทำความร้อนและหรือผลิตไฟฟ้าก็มาจากแหล่งฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้โลกร้อน เป็นที่มาของความตกลงปารีส (Paris Agreement) เรื่องการลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะที่เราไม่อยากเห็นเกิดขึ้น และในรายงานจาก IPCC (Intergovernmental Panel for Climate Change) ฉบับล่าสุดได้บอกอีกว่า ถ้าเรานับเฉพาะผลจากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วง 1850 จนถึงปัจจุบันอย่างเดียว ความร้อนบนผืนโลกอาจจะมีอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ด้วยที่ในอดีตกระบวนการเผาถ่านหินหรือการขับรถเครื่องยนต์ดีเซลนั้น นอกจากปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้วยังปล่อยพวกสารแขวนลอยบางอย่างในอากาศหรือฝุ่นละอองที่อยู่ในรูปของซัลเฟต (sulfate) และนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าฝุ่นละอองประเภทนี้ เมื่อไปอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) แล้วได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนแสงแดดออกไปนอกโลก ทำให้มีความร้อนจากพระอาทิตย์เข้ามาลดลงและทำให้โลกเย็นลง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าในรอบเกือบสองศตวรรษนับจากปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น สารแขวนลอยดังกล่าวทำให้โลกเย็นลงประมาณ 0.5 องศา และทำให้ภาวะโลกร้อนยังไม่รุนแรงอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันว่า สารแขวนลอยข้างต้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โรคร้ายแรงหลายอย่าง และทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตไปนับล้านคน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งในกระบวนการกลั่นน้ำมัน หรือการเผาถ่านหิน ก็จะมีตัวกักเก็บหรือ scrubber เพื่อกำจัดสารดังกล่าว ก่อนที่นำมาใช้งาน (ขอให้มั่นใจว่าน้ำมันสมัยใหม่ โดยเฉพาะน้ำมันยูโร 4 หรือ 5 ในประเทศไทยนั้น ปลอดจากสารแขวนลอยดังกล่าวนี้แน่นอนครับ) ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ สารแขวนลอยที่ทำหน้าที่สะท้อนแสงดังกล่าวกลับออกไปนอกโลกน้อยลงหรือหายไปและทำให้โลกร้อนเร็วขึ้น จึงมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ริเริ่มโดย Paul J. Crutzen (ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อค.ศ. 1995 และเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) ที่กำลังศึกษาว่าจะมีทางที่ทำให้ปอดของพวกเราปลอดภัยแต่ยังช่วยรักษาให้โลกเย็นลงด้วยได้หรือไม่โดยที่สารกลุ่มซัลเฟตดังกล่าวจะลอยอยู่ในอากาศเพียงชั่วครู่เท่านั้น ขณะที่สามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ได้ค่อนข้างนาน จึงอุปมาอุปไมยได้ว่าเหมือนการสร้างหมอกเทียมที่ทำให้อากาศเย็นลง โดยกระบวนการนี้เรียกว่า Solar Geoengineering หรือในอดีตเรียกว่า Solar radiation modification ซึ่งผมขอเรียกเล่นๆ ว่า ‘กางร่มให้โลก’ ก็เหมือนกับเรากางร่มกลางสนามกอล์ฟในวันแดดออก ที่ร่มสะท้อนแสงแดดออกไปและเรารู้สึกร่มเย็นขึ้นภายใต้ร่มนั้น ซึ่งการกางร่มให้โลกเริ่มเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและมีการศึกษามากขึ้น

การกางร่มให้โลกนี้ แม้จะเป็นวิธีการที่เร็วกว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็มีผลกระทบอีกมากมายที่ต้องหาทางป้องกัน เพื่อให้ไม่เป็นอัตรายต่อสุขภาพของพวกเรา และที่สำคัญคือเมื่อคิดว่าถ้าเราสามารถสะท้อนแสงกลับไปนอกโลก ก็อาจจะทำให้ความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้อยถอยลงไป และน่าจะเป็นสาเหตุที่รายงานของ IPCC ในรอบปี 2021 นี้ไม่ได้ระบุถึงการกางร่มให้โลกว่าเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย แต่ก็อย่างที่เราเข้าใจกันว่า การที่โลกจะเข้าสู่ net zero (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์) ในปี 2050 นั้นเป็นไปได้ยากมาก (ผู้เขียนเชื่อในทางสายกลางและคิดว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์สุดขั้วในระดับโลกเช่นนี้เป็นไปได้น้อย) การแก้ปัญหาโดยเร็ว หรือการหา low hanging fruit จึงเป็นสิ่งที่พวกเราพยายามมองหากันอยู่ ซึ่งนอกจากการกางร่มให้โลกแล้ว การลดก๊าซมีเทนก็น่าจะเป็นอีกคำตอบได้ โดยอย่างที่เราทราบกันว่า ก๊าซมีเทนนั้นสร้างภาวะเรือนกระจกให้โลกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ฉะนั้นนอกจากควรจะมีการรณรงค์การลดก๊าซมีเทนดังกล่าวในเชิงอุตสาหกรรมและการปศุสัตว์แล้ว ผู้บริโภคอย่างเราก็ช่วยได้ โดยการรับประทานอาหารถูกประเภทที่กระเพาะสามารถย่อยได้ง่าย และรับประทานอย่างช้า ๆ จะได้ไม่ปล่อยก๊าซมีเทนผ่านการเรอ หรือช่องทางอื่น ๆ ของร่างกายเรากันนะครับ