22 April 2022
เคล็ดเจ็ดประการสำหรับสตาร์ทอัพ
คอลัมน์ Everlasting Economy เมษายน 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจาก
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ขออนุญาตอวยพรวันสงกรานต์ย้อนหลังให้ผู้อ่านทุกท่านนะครับ ส่วนผมเองก็ถือโอกาสเก็บตกอ่านวารสารต่าง ๆ ในช่วงวันหยุดยาว พบข้อมูลที่สำคัญสองเรื่องจาก Financial Times ที่อยากจะมาแบ่งปันกันครับ
เรื่องแรกคือ ถ้าจำกันได้ เรามีคลิปที่แชร์กันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับรถ EV จากสตาร์ทอัพหลาย ๆ เจ้าเลย ซึ่งล้วนแล้วแต่ดูสวยล้ำ ตอบโจทย์และจะมา disrupt รถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น Lucid, Ravian, Nikola, Fisker หรือ Arrival ที่ว่าผู้บริโภคสามารถประกอบเองได้เป็นต้น หลาย ๆ รายก็ได้กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกามีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านเหรียญ และบางราย เช่น ผู้ผลิตรถกะบะ Ravian เคยมีมูลค่าตลาดสูงกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Volkswagen หรือผู้ผลิตรถหรูอย่าง Lucid ที่มีมูลค่าตลาดสูงกว่า Ford Motor เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ Ravian เพิ่งผลิตรถได้ 2,425 คัน เมื่อเทียบกับ Volkswagen ที่ผลิตปีละกว่า 9 ล้านคัน หรือ Lucid ที่ผลิตได้แค่ 125 คันตั้งแต่ก่อตั้งมา และเริ่มพบว่าการผลิตเป็นมวลมากนั้นไม่ง่ายเหมือนกับการทำตัวต้นแบบหรือ prototype
ด้วยธรรมชาติที่คนคิดว่าผู้มาใหม่เหล่านี้จะเหมือน Tesla ที่สามารถเบียดเข้ามาแทนที่ผู้ผลิตรายเดิมอย่างง่ายและจะเป็นผู้กำหนดทิศทางต่อไป จึงได้ให้มูลค่าตลาดหรือราคาหุ้นที่สูงมาก แต่ต้องไม่ลืมว่า Elon Musk ก่อนที่จะมายืนตรงจุดนี้ได้ล้มเหลวไปหลายครั้ง และได้มีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเงินหลายหมื่นล้านเหรียญกว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคงจะเป็นการเปิดโรงงานผลิตที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน การได้ supply chain จากประเทศจีนทำให้ Tesla สามารถ scale up จนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของรถ EV แม้ว่า จำนวนผลิตและส่งมอบทั้งปี 2021 จะมีแค่ 900,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของรถที่ผลิตทั้งโลก แต่ก็นับว่าสูงและทำให้มีมูลค่าตลาดกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ จนฝรั่งเรียกว่าหุ้นอัดด้วยก๊าซฮีเลียม (ฮีเลียมเป็นก๊าซที่ใช้ในการอัดลูกโป่ง)
จะเห็นว่า ไอเดียเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ แต่ที่สำคัญกว่า คือการ scale up เพื่อจะได้นำไอเดียที่จะ disrupt มาทำให้เกิดขึ้นได้จริง พอดีผมไปอ่านเจอ John Thornhill ที่แนะนำเคล็ด 7 ประการสำหรับสตาร์ทอัพ และน่าจะใช้ได้กับผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ด้วย เลยขอนำมาแชร์ในที่นี้ครับ
- Ideas are great but execution is all ก็เป็นการตอกย้ำสิ่งที่ผมเล่ามาข้างต้น และไอเดียดี ๆ ที่ไม่สามารถปฏิบัติจริง หรือผลิตเป็นมวลมากได้ก็ไม่ต่างจากการไม่มีไอเดีย
- Your new boss is the market ในที่ทำงานทั่วไปนั้น เรามีเจ้านายตามลำดับขั้นโดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ แต่สำหรับผู้ประกอบการ การตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญ และเขาคือนายที่แท้จริงของเรา
- Find fellow travelers น่าจะตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย เพราะว่าไอเดียดียังไงคงทำคนเดียวไม่ได้ คงต้องมีคนช่วยคิดช่วยเสริม ที่สำคัญ อย่ามีความคิดที่ว่าไอเดียเราเป็นความลับ และบอกใครไม่ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ประสบความสำเร็จได้ยาก
- Treasure patient backer อย่างที่เล่าข้างบนว่า กว่า Tesla จะผลิตได้เป็นจำนวนมาก มีการระดมทุนหลายรอบ ฉะนั้น การรักษาความสัมพันธ์กับแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะที่เข้ามาตั้งแต่ angel หรือ seed (การลงทุนจากนักลงทุนอิสระให้กับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น)
- Learn from mistakes quickly - or die สำหรับพวกเราที่อยู่ในองค์กรใหญ่ที่มีทั้ง CFO และคณะกรรมการความเสี่ยงมากลั่นกรองก่อนการลงทุนนั้น ทำให้ต้องคิดให้ครบก่อนลงมือทำ แต่ในโลกของสตาร์ทอัพ คิดได้สัก 70% ก็ควรจะลงมือ ทำแล้วถ้าไม่ใช่ ก็ให้แก้ไข แก้ไปเรื่อย ๆ อย่ายึดติด และไม่ต้องครบถ้วนแล้วค่อย launch
- Happiness is positive cash flow กระแสเงินสดสำคัญที่สุด และสำคัญกว่ายอดขายหรือกำไรทางบัญชี อันนี้เป็นจริงทั้งในสตาร์ทอัพและธุรกิจทั่วไป
- Water on granite หรือ หยดน้ำจนกว่าหินจะกร่อน ซึ่งก็คือความอดทนและมีความมุ่งมั่น (conviction) ที่จะทำให้ถึงจุดหมาย ส่วนใหญ่พอมีปัญหามาก ๆ แล้วจะเลิกกลางทาง แต่ผู้ที่สำเร็จนั้น ต้องล้มหลายครั้ง และมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดได้
ก็เป็นข้อคิดเล็ก ๆ สำหรับเด็กรุ่นใหม่หรือพวกเราที่คิดจะเปลี่ยนโลก เก็บไว้ประยุกต์ต่อนะครับ หลาย ๆ ข้อเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว แต่บางทีพอมาทบทวนอาจจะเป็นกำลังใจให้ต่อยอดออกไป ขอให้พวกเราได้มีสตาร์ทอัพที่เป็น unicorn (สร้างมูลค่าได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือ decacorn (มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กันเยอะ ๆ นะครับ