26 August 2022
Wearable (2)
คอลัมน์ Everlasting Economy สิงหาคม 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อ 2 เดือนก่อน ผมได้เขียนถึงอุปกรณ์ติดตัวต่าง ๆ ที่นอกจากเป็นเครื่องกระตุ้นให้เราออกกำลังกาย อันนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีแล้ว บางครั้งในภาวะคับขันยังเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ซึ่งก็ปรากฏว่ามีอุตสาหกรรมหนึ่งที่เริ่มใช้ wearable มาเป็นเครื่องมือที่แบ่งประเภทของลูกค้าและเพื่อกำหนดราคาสินค้าแล้ว
เวลาเราเดินทางโดยเครื่องบิน วิธีหนึ่งที่ใช้แบ่งแยกลูกค้าและคิดราคาให้แตกต่างหรือ price discrimination จะใช้ราคาตั๋วโดยสารเป็นตัวแบ่ง ตั๋วชั้นธุรกิจจะแพงกว่าตั๋วชั้นธรรมดาสักเท่าตัว และตั๋วชั้นหนึ่งจะแพงกว่าตั๋วชั้นประหยัดสัก 4 เท่า หรือเวลาที่เราดูหนัง ที่นั่งข้างหลังจะแพงกว่าที่นั่งข้างหน้า และราคาตั๋วหนังวันเสาร์-อาทิตย์จะแพงกว่าวันธรรมดา เป็นต้น ล้วนแล้วเต่เป็น pricing strategy ที่จะให้ครอบคลุมผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มและยังสามารถกำหนดราคาตามอำนาจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย
แต่สำหรับธุรกิจประกันชีวิตนั้น การกำหนดเบี้ยประกันส่วนใหญ่จะกำหนดได้แค่หยาบๆ โดยใช้การคำนวณทางสถิติ ผ่านนักคณิตศาสตร์การประกันหรือ actuator ในการคำนวณเบี้ยประกันเมื่อเทียบกับทุนประกัน ในบางกรณี อาจจะให้ผู้ซื้อประกันตรวจร่างกายก่อน ถ้าการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ต่ำกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันก็อาจจะมีการลดเบี้ยประกันให้บ้าง แต่เมื่อกำหนดแล้วก็จะคงที่ไปอีก 20-30 ปี ซึ่งถ้าผู้ซื้อประกันมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างหวือหวา ก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เบี้ยประกันก็ควรจะแพงขึ้น หรือกลับกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ในประเทศอังกฤษจึงมีการจูงใจให้ผู้เอาประกันใส่ wearable เพื่อแลกกับการลดค่าเบี้ยประกัน โดยมีการตั้งเป้าไว้ เช่น จะต้องมีการเดินไม่ต่ำกว่า 10,000 ก้าวต่อวัน ติดต่อกัน 3 เดือนหรือ 5 เดือน หรือมีการนอนหลับอย่างน้อยคืนละ 7-8 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เมื่อทำได้ ก็มี voucher เงินสดให้ ในส่วนของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อประกัน นอกจากจะได้เงินเป็นแรงจูงใจแล้ว ยังทำให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย จึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่ win-win ทั้งบริษัทประกันชีวิตและผู้เอาประกัน
นอกจากในวงจรของธุรกิจประกันชีวิตแล้ว ยังมีการต่อยอดไปถึงธุรกิจประกันภัยประเภทต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ในรถยนต์ ถ้าติดกล้อง cctv หรือเซ็นเซอร์ที่เก็บประวัติการขับรถ ก็จะทำให้มีการประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้น และส่งผลต่อเบี้ยประกันให้ลดลง เช่น ถ้ามีพฤติกรรมขับรถไม่เกิน 80 กม. ต่อชม. แม้ขับอยู่ในทางหลวงสายหลัก ไม่เปลี่ยนเลนฉับพลัน หรือไม่เล่นโทรศัพท์ขณะขับ รวมถึงกรณีรถหาย ก็สามารถตามเจอได้ ทั้งหมดนี้ก็จะได้มีส่วนลดในเบี้ยประกันจากอัตราปกติ หรือกรณีการติดเซนเซอร์ในบ้าน ที่มีบริษัทสตาร์ทอัพออกแบบอุปกรณ์เพื่อตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ แก๊ส หรือไฟฟ้า ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติภัยต่างๆ เมื่อได้ข้อมูลแบบ real time แล้วก็สามารถจะป้องกันการเกิดอุบัติภัยนั้นได้และก็สามารถลดเบี้ยประกันได้ด้วย เป็นต้น
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่เอาข้อมูลส่วนตัวของเราให้กับบุคคลที่สาม อย่างสตาร์ทอัพหรือบริษัทประกัน ก็อาจจะมีอีกมุมหนึ่งที่เขาเรียกว่า data harvesting หรือคือการเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์เฉพาะ ลองคิดดูว่าถ้าเรามีพฤติกรรมที่ตรงข้ามจากที่กล่าวข้างบนเป็นบางครั้ง ก็อาจจะเป็นข้อมูลให้บริษัทประกันขึ้นราคาเบี้ยประกัน หรือเบี้ยประกันมีราคาสูงจนไม่สามารถประกันได้ก็เป็นได้นะครับ
ข้อมูลต่าง ๆ ที่มากมายในโลกนี้จะยิ่งมีมากขึ้นและมากขึ้น แต่ความเป็นส่วนตัวของเราย่อมอยู่ที่เราเลือก เหรียญมี 2 ด้านเสมอ การพยายามขยายความในส่วนที่เป็นประโยชน์และบริหารความเสี่ยงในส่วนที่ส่งผลร้ายต่อตัวเรา น่าจะก่อให้เกิดผลดีมากกว่า โดยส่วนตัว ผมยังใส่ wearable เพื่อเป็นตัววัดตัวผมเอง ผมพบว่าการที่เราเป็นผู้บริหารนั่งอยู่แต่ที่โต๊ะ การเดิน 10,000 ก้าวทุกวันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เลยเปลี่ยนเป็นกำหนดให้เป็นเกินวันละ 5,000 ก้าว แต่ต้องการสร้างสถิติแบบต่อเนื่อง และพบว่า เมื่อเป้าไม่ไกลไป แต่ทำอย่างต่อเนื่องได้ อาจจะให้ประโยชน์ได้ดีกว่า ทำให้ผมเดินเกิน 5,000 ก้าวทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนติดกันแล้วครับ