TH

28 October 2022

ปูยี กับ ปูติน

คอลัมน์ Everlasting Economy ตุลาคม 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่านผู้อ่านที่รุ่นราวคราวเดียวกับผมคงจำได้ว่ามีหนังฟอร์มใหญ่ในปีค.ศ. 1987 ที่ได้ 9 ตุ๊กตาทองในปีถัดมาคือหนังเรื่อง The Last Emperor เป็นหนังเกี่ยวกับชีวประวัติของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน จักรพรรดิปูยี มีความยาวร่วม 3 ชั่วโมง แต่ก็ดูสนุก และมีฉาก ๆ หนึ่งตอนจักรพรรดิปูยียังเป็นเด็กเล็ก คือทุกเช้าที่ท่านถ่ายแล้ว จะมีหมอหลวงมาดมกลิ่น และดูสีของอุจจาระท่าน เพื่อจะดูว่าสุขภาพท่านแข็งแรง หรือมีเค้าของโรคภัยไข้เจ็บหรือไม่ ก็เป็นศาสตร์การแพทย์โบราณที่มีมาเนิ่นนานหลายศตวรรษในพระราชวังต้องห้าม และล่าสุด ประธานาธิบดีปูติน (ชื่อคล้ายกันเลย) เมื่อเดินทางออกนอกประเทศ ทุกครั้งที่ท่านทำธุระ เมื่อเสร็จแล้วองครักษ์หรือ secret service ของท่านจะนำมูลอุจจาระของท่านไปทำลาย เพื่อไม่ให้หน่วยสืบราชการลับของประเทศคู่อริ ได้นำไปวิจัย แล้วจะสามารถวิเคราะห์ถึงสุขภาพของท่านได้

จะเห็นว่าศาสตร์การวิจัยมูลของคนนั้นมีมานาน และเมื่อเราไปตรวจร่างกายปกติประจำปีก็จะมีการตรวจปัสสาวะและอุจจาระเช่นกัน แต่ด้วยความไม่สะดวกต่าง ๆ เรามักจะข้ามขั้นตอนนี้ไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่แปลกอะไร เมื่อทั่วโลกก็ประสบกับเหตุการณ์เช่นเดียวกัน ที่การตรวจดังกล่าวไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งเกิด pandemic ของโรคโควิดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า การตรวจสอบผ่านของเสียปฏิกูลดังกล่าวนั้น ให้ผลที่รวดเร็วและมีความแม่นยำกว่ามาก โดย Dr. Anna Mehrotra จาก The Water Environment Federation ที่สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า 1) เราสามารถตรวจเจอเชื้อโควิดในน้ำเสียจากมูลปฏิกูลได้เร็วกว่าและแม่นยำกว่า การ ทำสวอบจมูก (nasal swab) โดยร่างกายจะขับถ่ายไวรัสออกมากับสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ก่อนที่มันจะฟักตัวในร่างกายเราหรือประมาณ 1 ถึง 2 อาทิตย์ก่อนหน้า และ 2) เราสามารถตรวจจากตัวอย่าง (sample) ของประชากรหมู่มากได้ เช่น มูลจาก 14,000 คน ถ้าติดเพียงคนเดียว เราก็สามารถตรวจเจอได้ และบอกได้ด้วยว่ามาจากใคร ทำให้ต้นทุนในการตรวจถูกลงมา คือไม่ต้องสวอบจมูกทุกคน ซึ่ง KWR จากเนเธอร์แลนด์เองก็ได้พิสูจน์ว่าเป็นจริง เมื่อสามารถตรวจเจอไวรัสในน้ำเสีย (sewage) แล้วเกิดเคสติดเชื้อโควิดเคสแรกในสนามบิน Schipol ของกรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020

ผลที่ตามมาคือทางสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับการตรวจอุจจาระมากขึ้น และจากที่เคยมีการสำรวจ Covid-19 Poops แค่ประมาณ 39 จุด ในเดือนตุลาคม 2020 มาเป็นกว่า 3,500 จุด ในปัจจุบัน คือมากขึ้นเกือบ 100 เท่า และโรงพยาบาลเด็กแห่งบอสตัน (Boston Children’s Hospital) เมื่อมีการตรวจพบโอมิครอน ในระบบน้ำเสีย ก็สั่งระงับให้ผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาการไม่หนักมาที่โรงพยาบาล เพื่อลดการระบาดเป็นต้น ซึ่ง Dr. Mehrotra ได้กล่าวว่า ถ้าระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น การระบาดของโควิดอาจจะไม่ถึงกับเป็น pandemic หรือการระบาดระดับโลก ก็เป็นได้

การตรวจมูลปฏิกูลของคนนั้นนอกจากจะสามารถตรวจจับไวรัสโควิดได้ตั้งแต่วันแรก ๆ แล้ว ยังสามารถตรวจวัดถึงแนวโน้มของโรคระบาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝีดาษลิง ไทฟอยด์ ไข้หวัดนก หรือไข้เลือดออก และล่าสุดในอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีการตรวจพบเชื้อไวรัสโปลิโอในน้ำปฏิกูล โรคโปลิโอนั้นเราเชื่อว่าเป็นโรคที่หายไปจากโลกนี้มาหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็เริ่มกลับมาตรวจพบใหม่ และในมหานครนิวยอร์คก็เริ่มมีการตรวจพบไวรัสโปลิโอเช่นเดียวกัน จึงทำให้เริ่มกระบวนการป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ

นอกจากนั้นมันยังสามารถบอกถึงคุณภาพชีวิต อาหารการกินของแต่ละบุคคลอีกด้วย รวมถึงสารเสพติด เช่นในยุโรปที่มีการติดตามการบริโภคโคเคนและกัญชา ของประชากรผ่านการตรวจดังกล่าวตั้งแต่ปี 2011 ในขณะที่สหรัฐที่มีวิจัยผลข้างเคียงจากการบริโภคยาแก้ปวดประเภทต่าง ๆ หรือในบังคลาเทศมีการตรวจสิ่งปฏิกูลเพื่อทดสอบความดื้อยาของร่างกายต่อยาปฏิชีวานะ เป็นต้น ซึ่งระบบการรักษาทางการแพทย์นั้น ก็จะอาศัยสถิติเป็นหลัก และเมื่อมีข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้สามารถปรับประสิทธิภาพขอยาหรือการรักษาให้ตรงจุด ตรงประเด็นมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลจำนวนมากกับความเป็นส่วนตัวหรือ privacy ก็เป็นเส้นบาง ๆ ที่มีปัญหาคาบเกี่ยวมาตลอด เช่นในกรุงโซล เกาหลีใต้ มีการตรวจพบว่า ปริมาณของยาไวอากร้าในน้ำทิ้งปฏิกูลมีมากกว่าปริมาณที่สั่งผ่านใบสั่งยาจากหมอเป็นจำนวนหลายเท่าตัว (ปกติยาดังกล่าวจะจำหน่ายได้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น คงมีการแอบบริโภคโดยไม่ได้ใช้ใบสั่งแพทย์เป็นจำนวนมาก) ผลจากวิจัยเลยพบว่า คนเกาหลีใต้ซุกซนกว่าที่เห็นเยอะ … เอ๊ะ จาก ปูยี ปูติน มาจบที่ไวอากร้าได้ไงนะครับนี่ …