TH

06 September 2024

ปรับความคิด...ชีวิต ในยุค ‘โลกร้อน’

กับ ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“เกิดมาผมไม่เคยเจอ...อุณหภูมิที่ร้อนขนาดนี้ ไม่เคยเห็นปะการังตายขนาดนี้ ปีที่แล้วว่าเลวร้าย ปีนี้ร้ายยิ่งกว่า ปีหน้าอาจจะร้ายกว่านี้อีก”

ประโยคเปิดการสนทนาของ ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมแนวหน้าของประเทศ เป็นการเปิดบทสนทนาถึงความรุนแรงของปัญหาโลกเดือดที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมออกตัวว่าไม่ได้ขู่ “เพราะอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง” นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญในยุคโลกร้อน!! และอาจลากยาวไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า...

ถ้าพูดถึงคนรักทะเล คงไม่มีใครยืนหนึ่งให้นึกถึงเท่ากับ ‘ผศ. ดร.ธรณ์’ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ชนิดที่ว่าออกทะเลนับครั้งไม่ถ้วนทั้งทั่วไทยทั่วโลก ความที่เป็นคนชอบเขียน เขาจึงมีบทความมากมาย เพื่อสื่อสารบอกเล่าในสิ่งที่ตนเองทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ผ่านหลายช่องทาง รวมถึงเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามอยู่ในสถานะ ‘เพื่อนธรณ์’ ราว 2.32 แสนคน และยังมีผู้ติดตามอ่านบทความในซีรีย์ “The Road to Decarbonizationในฐานะ คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของประเทศไทย เป็นประจำทุกเดือน

ตลอดเวลาที่ทำงานด้านนี้มาผศ. ดร.ธรณ์ หรือ “อาจารย์ธรณ์” ไม่เพียงเป็นกระบอกเสียงในการอนุรักษ์ทะเลไทย แต่ยังส่งสัญญาณเตือนอยู่เสมอถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า “หากคุณไม่คิดจะดูแลทะเล ไม่คิดจะดูแลโลก ไม่คิดจะดูแลก๊าซเรือนกระจก ต่อไปคุณก็จะเดือดร้อน”

อาจารย์ธรณ์ ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ทะลมากกว่านั่งอยู่ในห้องแอร์ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เล่าว่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอุณหภูมิอยู่ประมาณ 28-29 องศา แต่ปัจจุบันหากวัดผิวน้ำหาดทรายบริเวณหญ้าทะเล ณ ทะเล อ่าวไทย สูงถึง 40 องศา ซึ่งปกติทั่วไปเป็นอุณภูมิปกติของบ่อออนเซ็น!!

“แค่คุณออกไปอยู่ทะเลจริง ๆ จะเห็นภาพความเป็นจริง และสิ่งที่เห็นชัดสุดคือปะการังฟอกขาว 99% แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกกฎหมาย มาตรการต่าง ๆ แต่ทว่าไม่สามารถหยุดโลกร้อนได้ ขนาดปะการังที่เป็น สัตว์คุ้มครอง พะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวน ยังตายเกลื่อน จับใครไม่ได้ ด้วยเหตุผลคนบนโลก 7 พันล้านคน ‘โลกร้อน...จะไปจับใคร?’

“ก่อนอื่น.. ต้องยอมรับว่า วิธีการจัดการในอดีตล้มเหลว แต่ไม่ใช่ว่าระบบไม่ดี เพียงแต่โลกเปลี่ยนไป... จากนี้ไปอีก 30-40 ปี โลกก็จะไม่เย็นกว่านี้แน่นอน มีแต่จะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การเดา เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ข้างบน มีเพียงพอที่จะทำให้โลกร้อนต่อเนื่องไปอีก 30 ปี” อาจารย์ธรณ์กล่าว

ด้วยสภาพอากาศร้อนสุดขั้วที่ทุกคนกำลังเผชิญ นำพาไปสู่ภาวะวิกฤตฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีสาเหตุหลักจากอากาศที่ยิ่งร้อน ทะเลก็ยิ่งร้อน(เดือด)ขึ้น ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากขึ้น เมฆจึงมีไอน้ำหนาแน่น เมื่อเข้าสู่ช่วงแปรปรวน น้ำจากเมฆทะลักทลายลงมาพร้อมกัน ทำให้ระบบที่เตรียมไว้ไม่สามารถรองรับได้ นั่นคือ เป็นที่มาของคำตอบว่า “ทำไมฝนตกชั่วโมงเดียวน้ำท่วมแล้ว!! ก็เพราะเมฆแต่ละก้อนมีน้ำอยู่ในนั้นมากกว่าสมัยก่อนนั่นเอง”

เด็กรุ่นใหม่..อยู่ให้รอดต้องปรับตัว!!

อาจารย์ธรณ์ บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องใช้ชีวิตไปอีก 30 ปีข้างหน้า สิ่งที่ต้องปรับคือ ‘Mindset’ โดยมองว่า ‘โลกร้อน’ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นความ ‘อยู่รอด’ ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะเพื่อดำรงชีวิตจึงมีความจำเป็นกว่าการรณรงค์ต่าง ๆ ที่ช้าไปแล้ว “ทุกวันนี้ผมสอนให้เด็กเอาตัวรอด เพื่อสามารถประกอบอาชีพในยุคโลกร้อน ควรสอนลูกหลานให้ทำมาหากินในระบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่เรียกว่าคาร์บอนต่ำซึ่งจะประสบความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า

“ในอดีตผู้ใหญ่อาจมีประสบการณ์เรื่องการเงิน แต่ในยุคโลกร้อน ผู้ใหญ่ยังไม่เคยเจอ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)! เท่ากับไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้น Net Zero หรือการตั้งเป้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์คือ ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง” นี่คือสิ่งที่ ดร.ธรณ์ อยากให้ลองคิดนอกกรอบ “ตอนเรียนผมไม่ได้อยู่ในห้อง แต่ไปอยู่ทะเล 120 วันต่อปี การอยู่นอกระบบทำให้ผมอยู่รอด เหมือนปลาที่อยู่นอกอวนจะไม่ติดอวน เพียงแต่ต้องเชื่อมั่นว่า คุณเป็นปลาที่ว่ายอยู่นอกอวนได้ ในขณะที่คนอื่นเขาเข้าไปในอวน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นปลาที่แข็งแรง เพียงแต่เราต้องเป็นปลาที่มั่นใจ...

ภารกิจขับเคลื่อนสู่...สังคมคาร์บอนต่ำ

“โลกตอนนี้ เป็น ยุคมาไวไปเร็ว..มองซ้ายขวาหน้าหลัง ผมรู้ว่าอีกสี่ปีข้างหน้าต้องทำอะไร ... หนึ่งในนั้นคือสร้างโรงอนุบาลเพาะเลี้ยงหญ้าทะเล ร่วมมือกับบางจากฯ โดยในภารกิจที่ดำเนินการไปแล้ว คือปลูกหญ้าทะเลที่เกาะหมากจังหวัดตราดเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้ท้องทะเล และขับเคลื่อนสู่สังคม คาร์บอนต่ำให้เกาะหมากเป็น Low Carbon Destination แห่งแรกของไทย เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ของหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ที่ผ่านความท้าทายสูงมาก ยิ่งปลูกยิ่งตาย “โลกยิ่งร้อน ความท้าทายยิ่งเยอะ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนไปเรื่อย ๆ”

ดร.ธรณ์ บอกว่าทุกวันนี้มีแต่คนพูดถึงเรื่อง Net Zero ในอนาคต ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี “ถ้าเกิดมีคนพบว่าวันข้างหน้า หากเราไม่สามารถไปถึงเป้า Net Zero..จะไปทวงสัญญานี้กับใคร...ตราบใดที่ตัวเองไม่รับผิดชอบ” นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ แล้วรักษ์โลก...ในแบบอาจารย์ธรณ์ทำอย่างไร ...

“อยู่บ้านครับ ลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน ถ้าต้องเดินทางก็โดยสารด้วยรถไฟฟ้า เริ่มต้นง่าย ๆ แบบนี้ก่อนครับ...” เป็นคำแนะนำทิ้งท้ายจากอาจารย์ธรณ์

ขอบคุณภาพจาก Facebook: Thon Thamrongnawasawat