14 February 2025
จากการตระหนักรู้สู่การลงมือทำ
ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกลายเป็นความท้าทายระดับโลก การเข้าใจและจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงาน การขนส่ง และกระบวนการผลิต ตั้งแต่กิจวัตรประจำวันของบุคคล ไปจนถึงการดำเนินงานในระดับองค์กร ทุกการกระทำล้วนมีผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลดและชดเชย เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม

Carbon Neutral Event สะท้อนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดจากกิจกรรมหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ การจัดงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ในภาคธุรกิจ การใช้พลังงาน การขนส่ง และการผลิต ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ไฟฟ้าในสำนักงานหรือโรงงาน การเดินทางเพื่อธุรกิจ และการขนส่งสินค้า หรือแม้แต่การจัดงาน เช่น งานสัมมนา หรืองานแสดงสินค้า ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจากพลังงานที่ใช้ รวมถึงการเดินทางของผู้ร่วมงาน และปริมาณขยะที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้รถยนต์ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีการใช้พลังงานสูงในกระบวนการผลิตและขนส่ง ก็ล้วนส่งผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งสิ้น
ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่ง ในชีวิตประจำวัน การปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นสามารถช่วยลดผลกระทบได้
อีกแนวทางที่สำคัญคือการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Offset) ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนโครงการที่ช่วยดูดซับคาร์บอน เช่น การปลูกป่า หรือการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการคาร์บอนส่วนที่ไม่สามารถลดได้
สำหรับบางจากฯ การจัดงานแบบ "ปลอดคาร์บอน" หรือ Carbon Neutral Event สะท้อนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การประเมินการปล่อยคาร์บอนครอบคลุมตั้งแต่การใช้พลังงานในงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วม ไปจนถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้น วิธีลดผลกระทบมีตั้งแต่การใช้อุปกรณ์รีไซเคิล การลงทะเบียนออนไลน์ การจัดรถรับส่ง ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ยังมีการชดเชยคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง

ตั้งแต่ปี 2564 บางจากฯ ได้รับรองการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีเป็น Carbon Neutral Event โดยลดการใช้พลังงาน บริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ และชดเชยคาร์บอนที่เหลือผ่านคาร์บอนเครดิต หลังจากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมต่าง ๆ ของบางจากฯ ก็มีการออกแบบงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด และเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การลงทะเบียนออนไลน์ การเดินทางด้วยรถสาธารณะ การแยกขยะ ฯลฯ เช่น Greenovative Forum ประจำปี งานแถลงข่าว งานลงนาม MOU ต่าง ๆ รวมถึงมีการขยายไปสนับสนุนงานอื่น ๆ เช่น กิจกรรม เดิน-วิ่ง Olympic Day และการประชุม APEC 2022 ที่กรุงเทพฯ ที่มีการชดเชยคาร์บอนให้ศูนย์ปฏิบัติการสื่อมวลชนปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Media Center) เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนในวงกว้างขึ้น รวมถึงโครงการ Stay for Santa ร่วมกับเครือดิเอราวัณ กรุ๊ป เมื่อปลายปี 2566
นอกจากนี้ บางจากฯ ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยคาร์บอนระดับบุคคล เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน โดยเชิญชวนให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบุคคล เริ่มจากผู้บริหาร ผ่านการสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคลของคณะผู้บริหารทุก ๆ ปี และมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยและใช้เป็นเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลลงในปีต่อ ๆ ไป และต่อยอดไปยังวิทยากรผู้บรรยายในงานต่าง ๆ เช่น webinar ของ Carbon Markets Club รวมถึงผู้ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม อย่าง เมย์ - รัชนก อินทนนท์ วิว - กุลวุฒิ วิทิตศานต์ และ จิว - ลลินรัศฐ์ ไชยวรรณ นักกีฬาแบดมินตันของโรงเรียนบ้านทองหยอด ซึ่งบางจากฯ ได้สนับสนุนให้เป็น "นักกีฬาไร้คาร์บอน" กลุ่มแรกของไทย ผ่านการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคลที่เกิดจากการเดินทางไปแข่งขันในประเทศต่าง ๆ และการใช้ชีวิตประจำวันตลอดทั้งปีด้วยคาร์บอนเครดิตผ่านการซื้อขายใน Carbon Markets Club นับเป็นต้นแบบของนักกีฬาที่มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ชีวิตประจำวันและภารกิจต่าง ๆ และชดเชยให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับสังคมในการมีส่วนร่วมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
งานวันเด็กบางจาก 2568 เมื่อเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นอีกตัวอย่างของ Carbon Neutral Event ที่ออกแบบให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน กิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า งานอีเว้นท์ไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์ แต่ยังเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในวงกว้าง
บางจากฯ ร่วมขับเคลื่อนการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านการจัดงาน กิจกรรม และการดำเนินงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังสร้างความมีส่วนร่วมของสังคมในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งมอบโลกที่สวยงามและยั่งยืนให้กับคนรุ่นถัดไป
