TH

28 March 2025

เดินทางอย่างเท่าเทียม

ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับทุกคน

การเดินทางไม่ได้เป็นเพียงแค่การเคลื่อนย้ายจากที่ที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น เพราะการเดินทางไปถึงจุดหมาย แต่ละครั้งเท่ากับการได้บรรลุความสำเร็จเล็กๆ ในชีวิต ตามคำบอกเล่าของคุณเพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพสซิทีฟ ครีเอชั่น จำกัด ผู้นิยามตนเองว่า “สื่อมวลชนคนพิการ” และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ wheelshare.me แบ่งปันจากล้อหมุน สื่อเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน เธอเป็นคนพิการที่เดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อนำประสบการณ์จากการท่องเที่ยวและการเดินทางมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่านและผู้ชมสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละคนตามความชอบและความพร้อม

“เวลาเราเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง เมื่อไปถึงที่นั้น เปรียบเสมือนความสำเร็จเล็ก ๆ หรือ small wins ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและเยียวยาจิตใจ มีผลสำรวจพบว่า คนพิการ 2 ใน 3 คน ต้องการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อที่จะฮีลใจเพราะมันคือการประสบความสำเร็จเล็ก ๆ บางคนตั้งเป้าหมายเอาไว้เลยว่าใน 1 ปี หรือ 6 เดือน จะต้องเดินทาง 2 หรือ 3 ครั้ง การท่องเที่ยวจึงถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะตอบคำถามประสบการณ์ชีวิตของคนพิการได้” คุณเพชรน้ำหนึ่ง กล่าว

สำหรับคนทั่วไปอาจไม่ตระหนักว่าคนพิการนั้นสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เหมือนกับทุกคน การตัดสินใจแทนโดยไม่เปิดโอกาสให้คนพิการได้ออกเดินทางด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ทำให้คนพิการนั้นไม่มีโอกาสได้รู้ถึงศักยภาพของตัวเองและอาจจะเป็นการปิดโอกาสความสำเร็จเล็กๆ ที่คนพิการจะทำได้ คุณเพชรน้ำหนึ่ง แนะนำว่าให้เปิดโอกาสให้คนพิการได้เดินทาง เพื่อจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่าชอบหรือไม่ชอบ ทำได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าสิ่งที่คนพิการต้องการได้รับการสนับสนุนและพบว่าในสังคมไทยยังขาดแคลน คือข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้เดินทางง่ายขึ้น ถึงแม้ยุคนี้ข้อมูลสามารถหาได้ง่าย ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คนพิการได้วางแผนและตัดสินใจ ได้แก่ข้อมูลของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่มีอยู่ในแต่ละสถานที่ ซึ่งจะทำให้คนพิการสามารถวางแผนเตรียมตัวสำหรับการเดินทางได้

ข้อมูลจำเป็นประกอบด้วย

  • ทางลาด
  • ที่จอดรถคนพิการ
  • ลิฟท์
  • ห้องน้ำคนพิการ
  • ทางเดินนำทางสำหรับคนพิการทางสายตา (เบรลล์บล็อก) และป้ายข้อมูลอักษรเบรลล์

คุณเพชรเล่าว่า ระหว่างการเดินทางนั้นจะมีความทรงจำดี ๆ ที่ทำให้นึกถึงแล้วอยากกลับมาอีก โดยเฉพาะร้านอาหาร ตลาดนัด ของกินอร่อยประจำพื้นที่ ซึ่งต้องเดินทางมาเท่านั้นจึงจะหาทานได้ เช่น ร้านอาหาร หรือเมนูบางเมนูตามสถานีบริการน้ำมัน หรือปั๊มน้ำมัน และเมื่อกล่าวถึงประสบการณ์ในปั๊มน้ำมันคุณเพชรเล่าว่า หลายครั้งที่ต้องวางแผนการเดินทาง เส้นทาง จุดแวะพักต่าง ๆ เคยมีประสบการณ์แวะเข้าห้องน้ำที่ที่ปั๊มน้ำมันแล้วพบว่าทางลาดไม่มี หรือลาดชันมาก ใช้งานแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย ห้องน้ำคนพิการบางแห่งถูกนำไปเป็นห้องเก็บของ และการออกแบบที่ไม่เป็นมิตรกับวีลแชร์ทำให้ไม่สามารถหมุนกลับตัวปิดประตูห้องน้ำได้และอีกจุดคือก๊อกน้ำ ควรจะเป็นก๊อกที่ใช้มือปัดไม่ใช่การหมุน ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนปกติอาจจะไม่เข้าใจว่าสามารถช่วยให้การเดินทางราบรื่น เพราะหากแวะปั๊มน้ำมันแล้วไม่สามารถใช้งานห้องน้ำได้จริง เคยต้องตัดสินใจปัสสาวะในรถแทน

คุณจันทร์นภา สายสมร กรรมการบริหาร บริษัท บลูมมิ่งเทลส์ จำกัด

คุณจันทร์นภา สายสมร กรรมการบริหาร บริษัท บลูมมิ่งเทลส์ จำกัด ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันบางจาก บลูมมิ่งเทลส์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของผู้บริหาร ที่ต้องการให้ปั๊มบางจาก บลูมมิ่งเทลส์ เป็นหมุดหมายแห่งการเติมพลัง การพักผ่อนที่เสมอภาค เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคน มีการออกแบบโดยยึดหลักอารยสถาปัตย์ Universal Design 4 By 4 คือ ดีไซน์ที่ต้องรองรับผู้ใช้บริการ 4 กลุ่มหลักได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และประชาชนทั่วไป อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และปลอดภัยสูงสุด ด้วยมาตรฐานระดับสากล ภายใต้อารยดีไซน์ใน 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1. พื้นที่เสมอภาค 2. ดีไซน์เสมอภาค 3. วัสดุเสมอภาค และ 4. ปลอดภัยเสมอภาค และทางปั๊มยังได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนสำนักงานเขตบางแค ประเภทกลุ่มสถานีบริการเชื้อเพลิง เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดห้องน้ำขวัญใจมหาชนแห่งปีของกรุงเทพมหานคร กรมอนามัยได้มอบป้าย Happy Toilet ให้เป็นส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะระดับดีเยี่ยมแก่ทางสถานี ช่วยสร้างเสริมสร้างสุขภาพกายและจิตใจ

ซึ่งคนพิการที่เดินทางมาใช้บริการเอ่ยปากชมความร่มรื่นและความเป็นมิตรกับคนพิการของพื้นที่ปั๊มบางรายยังแวะซื้อของว่างรับประทานระหว่างเดินทาง ซึ่งการแวะ 1 จุด ได้ครบวงจรทั้งเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารและพักผ่อนระหว่างเดินทางด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรกับทุกคน

ปั๊มน้ำมันบางจาก บลูมมิ่งเทลส์ ตั้งอยู่บริเวณพุทธมณฑลสาย 3 บนถนน 6 เลน เชื่อมต่อถนนพระเทพฯ ตัดใหม่ (พรานนก-สาย 3) บนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ให้เป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ทันสมัย มีสาธารณูปโภคครบครัน

สำหรับบางจากฯ การเดินทางสำหรับคนพิการ ไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต และโอกาสในการสัมผัสโลกกว้างอย่างเท่าเทียม การมีสถานที่ที่รองรับการเข้าถึงของทุกคน ไม่เพียงช่วยให้คนพิการสามารถเดินทางสะดวกขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงสังคมที่ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างแท้จริง