TH

30 July 2021

ปลอดภัย มั่นใจ เชื่อใจ

ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเชิงธุรกิจ 6 แห่ง ซึ่งต่างมีภารกิจหลักที่สำคัญในการร่วมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เสริมเสถียรภาพการผลิตน้ำมัน โดยนำน้ำมันดิบไปกลั่นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ก๊าซแอลพีจี น้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อจัดจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศที่หลากหลาย

ถึงแม้ว่าแต่ละโรงกลั่นจะมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ประเภทของโรงกลั่น ไปจนถึงกลยุทธ์การบริหารทางธุรกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกโรงกลั่นจะต้องดำเนินการเหมือนกัน และถือได้ว่าเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญยิ่ง ก็คือการทำ Turnaround Maintenance หรือ TAM ซึ่งหมายถึง การหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามวาระ เพื่อตรวจสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบทุกชนิดในกระบวนการกลั่นที่ทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะมีความเป็นได้ที่ในระยะเวลาหนึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้ย่อมมีการเสื่อมสภาพ ชำรุดเสียหาย รวมถึงเปลี่ยน ปรับปรุงให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม มีความปลอดภัยสูงสุด ด้วยเป็นมาตรฐานสำคัญที่ต้องตระหนักถึงเป็นอันดับแรกของธุรกิจโรงกลั่นเลยก็ว่าได้

ความปลอดภัยสูงสุด เป็นมาตรฐานสำคัญ
ที่ต้องตระหนักถึงเป็นอันดับแรก

ทุกโรงกลั่นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนตรวจสอบประสิทธิภาพและฟื้นฟูสภาพ โดยการหยุดกระบวนการผลิตทั้งหมด (Shut down) และทำการซ่อมบำรุง ก่อนกลับมาเริ่มเดินเครื่องใหม่ (Start up) อีกครั้งอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังการผลิตและปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีการประสานงานร่วมกันระหว่างกลุ่ม Planner ของแต่ละโรงกลั่นเพื่อแจ้งกำหนดช่วงเวลาและรับทราบร่วมกันก่อนการซ่อมบำรุง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกำลังการผลิตในภาพรวมของประเทศ

สำหรับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก น้องเล็กของวงการ กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน ก็ได้กำหนดให้ทุกๆ 2-3 ปี จะมีการทำ Turnaround Maintenance โดยการหยุดหน่วยกลั่นเพื่อซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบและหน่วยผลิตอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น ดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย และป้องกัน ลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะบางจากฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีการตรวจวัดสภาพอากาศโดยรอบโรงกลั่นทั้งก่อนและหลังดำเนินการหยุดซ่อมเพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อนบ้านโดยรอบ ซึ่งครั้งล่าสุด หยุดซ่อมบำรุงในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะเป็นการซ่อมบำรุงเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้เพื่อนบ้านโดยรอบผ่านการนำร้านค้า ร้านอาหารจากชุมชนมาจำหน่ายแก่ผู้รับเหมาอีกด้วย

และในท่ามกลางสถานการณ์โควิด บางจากฯ ได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในการตรวจคัดกรองผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ จัดสรรการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเสี่ยงตลอดทั้งกระบวนการโดยไม่พบว่ามีผู้ใดติดหรือแพร่เชื้อ

ด้วยการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยครบทุกด้านที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (SHEE) ตามมาตรฐาน ISO 45001 มีระบบบริหารความปลอดภัยในกระบวนการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก นำเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการด้านคุณภาพอากาศและน้ำเพิ่มเติมจากพื้นฐานที่กฎหมายกำหนด จัดฝึกซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย โดยคำนึงถึงพนักงาน ผู้รับเหมา และชุมชนรอบข้าง พร้อมประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นพร้อมแผนรองรับอย่างครอบคลุม

ประกอบกับ การตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานที่เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ นับชั่วโมงความปลอดภัยในการทำงานเพื่อมุ่งเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ ป้องกันการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตรงตามคติบนชุดปฏิบัติงานของพนักงานที่ว่า "Everyone Goes Home Safely Everyday" หรือ "ทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยในทุกๆ วัน" นี้ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ ที่มีทั้งความปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกๆ ฝ่าย และเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ชุมชนที่อยู่ร่วมกันมานาน ในการอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

'ความมั่นใจ' นำมาซึ่ง 'ความไว้เนื้อเชื่อใจ'

คุณบงกช ลางคุลเสน (พี่จ๋า) กรรมการชุมชนหน้าโรงเรียนบางจากและอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นหนึ่งคนที่เติบโตมาพร้อมกับโรงกลั่นบางจาก เล่าถึงความผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ในระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษของชีวิต โดยพี่จ๋าเปรียบว่าบริษัทบางจากฯ หรือที่พี่จ๋าเรียกอย่างคุ้นเคยว่า "บางจากฯ" เป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดี ที่คอยดูแลห่วงใยและช่วยแก้ปัญหาตลอด อุปกรณ์หรือเครื่องมืออะไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน บางจากฯ ก็พร้อมดูแลเสมอ น้องๆ พนักงานบางจากทุกคนที่เข้ามาดูแล เราก็รู้นะ ว่าเขามาเพราะอยากดูแลเราจริงๆ ไม่ได้มาเพียงเพราะหน้าที่ เราสัมผัสได้ถึงความห่วงใย เหมือนเราเป็นญาติเขา อยากให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยส่วนตัว ไม่เคยคาดหวังอยากจะได้อะไรนอกจากความปลอดภัยที่ดีที่สุดและไม่ปล่อยมลภาวะ ต้องอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย สบายใจ ซึ่งที่ผ่านมา บางจากฯ ก็ทำให้รู้สึกแบบนั้นมาตลอด อย่างในชุมชนก็มีจอแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาติดตั้งไว้ เวลาเห็นว่าทุกอย่างโอเคก็ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้น

และไม่ว่าบางจากฯ จะทำอะไรเขาจะรีบแจ้งให้เรารู้ทันที จะซ้อมโน่น ทำนี่ก็บอกล่วงหน้า หากเกิดเหตุอะไรขึ้น บางจากฯ จะรีบตรวจสอบผลกระทบและพร้อมรับผิดชอบทันที เวลามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราก็เคยอยากช่วยนะ แต่สถานการณ์มันไม่อำนวย ทุกคนต้องแก้ปัญหาตรงหน้า ก็ได้แต่เขียนใส่กระดาษว่า “สู้ๆ นะ” แล้วนำไปใส่มือทีมงานเพื่อให้กำลังใจพวกเขา

ในเรื่องความปลอดภัยก็ดูแลครบ จัดซ้อมดับเพลิงให้คนในชุมชน พาไปดูระบบความปลอดภัยภายในโรงกลั่น เห็นแล้วก็รู้สึกเชื่อมั่น รู้ว่าเขาดูแลจริงจัง หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ เขาก็ใส่ใจ ช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 หรือโควิด-19 ระบาด ก็ส่งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์มาให้ชาวบ้านตลอด ไถ่ถามตลอดว่าขาดอะไรไหม มีอะไรที่บางจากฯ จะช่วยได้บ้าง "ไม่เคยรู้สึกว่าบางจากฯ เป็นแค่เพื่อนบ้าน แต่รู้สึกเสมอว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน"