15 October 2021
เมื่องานออกแบบเป็นมากกว่าการออกแบบ
ประสบการณ์ดีไซน์ความสุข ส่งต่อ Greenovative Experience ให้ลูกค้า
อีกหนึ่งผลงานออกแบบเพื่อรับมือกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ใช้บริการ
“ผมเป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่ดูแลการออกแบบปั๊มบางจาก ทำงานกับบางจากฯ มามากกว่า 13 ปีแล้ว แต่งานออกแบบที่นี่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่มีจังหวะที่รู้สึกเบื่อ เพราะปั๊มของเรามีการปรับแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกให้ดูทันสมัยตามแนวคิด สี และแบรนด์ที่ปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงมีภารกิจออกแบบปั๊มให้ตอบโจทย์กับความท้าทายในทำเลต่าง ๆ และตอบสนองแนวคิดใหม่ ๆ อย่างปั๊ม Unique Design ที่ทำให้แต่ละสาขามีเอกลักษณ์เฉพาะผสมผสานกับ Brand Identity ของแบรนด์บางจากฯ อย่างลงตัว เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษและเสริมสร้างการจดจำให้กับลูกค้าด้วย”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนากับหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบสถานีบริการน้ำมันบางจาก ต้น - สุเมธ อังศุกรานต์ สถาปนิกอาวุโส ส่วนออกแบบสถาปัตยกรรมการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่แม้จะมีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย แต่การบอกเล่าเรื่องราวของเขา ยังเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ
เป็นมากกว่า ‘ปั๊มน้ำมันสีเขียว’
ที่ ‘บ้านบางจาก’ การทำงานในบทบาทสถาปนิกเป็นมากกว่าการออกแบบสิ่งปลูกสร้างเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของพื้นที่ แต่เป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) และสร้างประสบการณ์ที่ดีเพื่อส่งมอบคุณค่าของพื้นที่สถานีบริการให้แก่ลูกค้า ภายใต้แนวคิด “Greenovative Experience” ซึ่งการตีความและถ่ายทอดแนวคิดให้ออกมาเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม นั้นเป็นทั้งความท้าทายและความสนุกที่รวมอยู่ด้วยกัน
“เราต้องถอดองค์ประกอบต่าง ๆ ในงานและหาทางสื่อออกไปในรูปแบบที่คนจะเข้าถึง ใส่ใจในประเด็นรักษ์โลกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง ทั้งในจุดที่อาจไม่ทันสังเกต เช่น การวางผังและกระบวนการคัดสรรวัสดุที่ละเอียด การใช้แสงธรรมชาติในการออกแบบอาคาร การดูทิศทางลม การใช้พลังงานสะอาด และจุด Touch Point ที่พอจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่เข้าถึงได้ให้กับลูกค้า เช่น การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว ใช้วัสดุประหยัดพลังงานหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง การวางระบบน้ำทิ้งเพื่อมารดน้ำต้นไม้แม้แต่น้ำล้างมือจากการเติมลมยาง เราก็ดีไซน์ให้ไหลที่กระบะปลูกต้นไม้ เป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ค่อย ๆ สั่งสมเป็นประสบการณ์สีเขียวไปให้ลูกค้าสัมผัสได้ไปเรื่อย ๆ”
สถานีบริการน้ำมันบางจาก ยังเข้าร่วมประเมินตามข้อกำหนดและมาตรฐานสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.) จนได้รับการรับรองในฐานะสถานีบริการต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม หรือ Inno-Green Station ในปี 2561-2563 จากงานพัฒนา ออกแบบ และก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันให้มีภาพลักษณ์ทันสมัย มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมนำนวัตกรรมด้านการออกแบบและเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ให้เกิดการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานในสถานีบริการ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เป็นมากกว่า ‘งานออกแบบสถาปัตยกรรม’
จากประสบการณ์การดูแลงานออกแบบสถานีบริการไม่ต่ำกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ต่อคำถามที่ว่าประทับใจเรื่องราวของปั๊มทำเลใดมากที่สุด สุเมธ บอกกับเราว่าทุกที่ล้วนน่าประทับใจในแบบของตัวเอง ทุกปั๊มที่สร้างมีความสนุก ไม่ว่าจะเป็นปั๊มขนาดทั่วไป หรือ ปั๊มขนาดใหญ่ ปั๊มของบางจากเอง หรือ ปั๊มที่ดูแลให้เจ้าของกิจการสถานีบริการ จากการได้พูดคุยเชื่อมโยงหลายฝ่ายทั้งลูกค้าเจ้าของสถานีบริการ พันธมิตรผู้ให้บริการภายในพื้นที่ ชุมชน และผู้สัญจรเข้าไว้ด้วยกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังมานี้ บางจากฯ เปิดกว้างให้ผู้สนใจเป็นเจ้าของกิจการมีอิสระในการออกแบบอาคารพื้นที่ค้าปลีก สามารถสอดแทรกบุคลิกของตัวเอง ของพื้นถิ่น หรือ เสน่ห์ของชุมชนเข้าไป โดยบริษัทฯ คอยดูแลเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นบางจากให้ยังอยู่ครบและกลมกลืน ทุกไซต์จึงยิ่งมีความสนุกที่แตกต่างกันออกไป
“เราไม่ได้ออกแบบให้เป็นแค่เพียงปั๊มน้ำมัน แต่เป็นพื้นที่สำหรับประสบการณ์ที่เราพยายามดีไซน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเข้ามาเติมน้ำมัน มาซื้อกาแฟ มาทำธุรกิจ หรือ ซื้อของจับจ่าย ก็จะมีพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่พักสายตาและหย่อนใจ เช่น ปั๊มแห่งใหม่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เราเลือกเอา ผ้าซิ่นตีนแดง ของดีประจำจังหวัดบุรีรัมย์ มาออกแบบเป็นลวดลายสีสันของหน้ากากตัวอาคาร นำเสนอเหมือนผืนผ้าซิ่นตีนแดงพลิ้วไสวอยู่หน้าอาคาร รวมไปถึงลวดลายในบริเวณร้านกาแฟอินทนิล ห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งบริการคาร์แคร์”
เราไม่ได้ออกแบบให้เป็นแค่ปั๊มน้ำมัน
แต่เป็นพื้นที่สำหรับประสบการณ์ที่
ดีไซน์ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
องค์ประกอบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในชุมชนนั้น
เป็นมากกว่า ‘เพื่อนร่วมงาน’
ไม่เพียงแต่เนื้องานที่ท้าทาย ไม่จำเจ เพราะการทำงานที่ ‘บ้านบางจาก’ แห่งนี้ ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่ในแปลนเขียนแบบ สุเมธ กล่าวพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าว่า แต่ที่สำคัญกว่าคือบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งเราอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ซึ่งหมายความแบบนั้นจริง ๆ ไม่ได้พูดให้ดูสวยหรู เราคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง มีความใกล้ชิดสูง แชร์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกันได้ พิสูจน์ด้วยระยะเวลามากกว่า 13 ปีที่อยู่ภายใต้ร่มเงาบ้านบางจากมา จนเรื่องราวต่าง ๆ ของบางจากฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว “ทำงานมามากกว่า 10 ปี ทุกวันนี้ก็ยังสนุกอยู่ครับ” เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของ สุเมธ ก่อนจะขอตัวไปทำงานที่เขารักต่อ