24 พฤษภาคม 2566
บางจากฯ และ การบินไทย ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน
นายปฏิวัติ ทิวะศะศิธร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-โรงกลั่น กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลง ความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม และ นายเสรี อนุพันธนันท์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจากฯ และ นายชัยยง รัตนาไพศาลสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร บริษัท การบินไทยฯ ร่วมลงนาม เป็นพยาน ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต
นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บางจากฯ มุ่งมั่นดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Balancing the Energy Trilemma) เพื่อจัดหา ผลิต และจัดจำหน่ายน้ำมันและเชื้อเพลิงชีวภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนอีกทั้งพัฒนาและต่อยอดธุรกิจหลักให้เติบโต เร่งขยายสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจสีเขียวและยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งรองรับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ในปี 2565 บางจากฯ ได้ตั้งบริษัทเพื่อผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว (Sustainable Aviation Fuel - SAF) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ตามแผนงาน BCP 316 NET ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2593 พร้อมวางแผนปรับเปลี่ยนโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง และสำหรับ SAF ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันใช้แล้ว แต่ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กำลังเดินหน้า ตามเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ FlyNetZero ให้สำเร็จในปี พ.ศ. 2593 เช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีภารกิจอื่นๆ ในการร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสถานีบริการที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจติดตั้ง EV Charger ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั่วไทย การขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ศึกษาและลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ การจัดตั้งแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie และการก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการคาร์บอนเครดิต และเป็นช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการลดคาร์บอน รวมถึงจัดทำโครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนโดยธรรมชาติกับหน่วยงานต่าง ๆ
บางจากฯ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นกับการบินไทยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถเข้าถึงน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนและมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติที่มีธุรกิจหลัก คือ เป็นสายการบินให้บริการ เต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศอย่างครบวงจร ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีเครือข่ายเส้นทางการบินครอบคลุมกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 63 ปี โดยมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ส่วนบางจากในฐานะกลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของเอเชีย ที่มีการลงทุนเพื่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของของเสียภายในประเทศ และยังช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบิน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการบิน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมการบินจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกย่อมเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมกันแบ่งปัน นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความความเชี่ยวชาญของ แต่ละฝ่าย เพื่อดำเนินการศึกษาด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero อีกทั้ง เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การผสานความร่วมมือ ด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป