EN

06 ธันวาคม 2566

กลุ่มบริษัทบางจาก และคอสโม ออยล์ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมรุกตลาดเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF)

นำทัพตลาดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสู่น่านฟ้ายั่งยืน

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คอสโม ออยล์ จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ด้วยการ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่สำนักงานใหญ่ของคอสโม ออยล์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยกรอบข้อตกลงความร่วมมือนี้ครอบคลุมการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งผลิตโดยบางจากฯ สู่ประเทศญี่ปุ่นโดยคอสโม ออยล์

พิธีลงนามนี้นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน โดย มิสเตอร์ ยาซูฮิโร ซูซูกิ ประธาน บริษัทคอสโม ออยล์ ได้ร่วมลงนามกับ นายปฏิวัติ ทิวะศะศิธร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-โรงกลั่น กลุ่มธุรกิจ โรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามของบริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก

การร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบางจากฯ และคอสโม ออยล์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ครอบคลุมการนำเข้าและการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่คอสโม ออยล์รับจากบางจากฯ ได้แก่ SAF ไบโอแนฟทา และไบโอเอทานอล นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังมีแผนร่วมศึกษาการใช้ประโยชน์และการขนส่งไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage - CCUS) และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานอีกด้วย

บางจากฯ นับเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนในประเทศไทย โดยได้ประกาศแผนดำเนินการผลิต SAF เมื่อเดือนกันยายน 2565 ด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่โรงกลั่นบางจาก พระโขนง กรุงเทพฯ มีกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2567 ทั้งนี้ SAF ที่ผลิตได้ในสัดส่วนที่สำคัญจำนวนหนึ่งจะส่งออกไปให้คอสโม ออยล์ ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 10 ปี ตามข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกัน

สำหรับคอสโม ออยล์ ซึ่งมีเป้าหมายการจัดหา SAF 300,000 กิโลลิตรต่อปีภายในปี 2573 นั้น การร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับบางจากฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มอุปทานการจัดหา SAF ให้มีความหลากหลายมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งจากการผลิตด้วยตนเองและจากความร่วมมือกับแหล่งผลิตในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ทั้งสองบริษัทยังต่างแสดงความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยทั้งสององค์กรมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน และการศึกษาที่หลากหลายเพื่อเร่งกระบวนการสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

นายปฏิวัติ กล่าวว่า “การลงนามในกรอบความตกลงการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ถือเป็นก้าวสำคัญในการเป็นพันธมิตรระหว่างบางจากฯ กับคอสโมออยล์ ซึ่งต่อยอดมาจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดยาวนานกว่าทศวรรษ ความตกลงนี้เกิดเป็นรูปธรรมจากความทุ่มเทของทั้งสององค์กรเพื่อมุ่งสู่อนาคตของการผลิตพลังงาน ที่สะอาดยิ่งขึ้น สำหรับบางจากฯ การบุกเบิกเชิงกลยุทธ์เพื่อผลิตและจำหน่าย SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว สะท้อนความมุ่งมั่นในด้านนวัตกรรมพลังงานสีเขียวของบริษัทฯ ซึ่งการผลิต SAF ปริมาณ 1,000,000 ลิตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 80,000 ตันต่อปี สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัทบางจากในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593”

มิสเตอร์ซูซูกิ กล่าวว่า "อุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการเร่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาส ทั้งคอสโม ออยล์ และบางจาก ตระหนักถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและได้ประกาศเป้าหมายร่วมในการ "ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050" ด้วยเหตุนี้ การทำความร่วมมือในระดับโลกจึงมีความสำคัญ และการที่บริษัททั้งสองสามารถทำข้อตกลงร่วมได้ในครั้งนี้ นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยโอกาสของความร่วมมือของเราจะไม่จำกัดเพียงเรื่อง SAF เท่านั้น ซึ่งผมหวังว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งหวังที่จะผสานพลังร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต่อไป"

พิธีลงนามดังกล่าว นอกจากจะมีผู้บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัทคอสโม ออยล์ เข้าร่วมแล้ว ยังได้รับเกียรติจาก นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมและกล่าวแสดงความยินดี โดยนายฉันทพัทธ์ได้กล่าวว่าความร่วมมือเป็นพันธมิตรของ ทั้งสองบริษัทในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการส่งเสริม และถือเป็นการปูทางสู่อนาคตแห่งความยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมควบคู่กันไป