12 มกราคม 2567
บางจากฯ จับมือบีทีเอส ส่งจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) สร้างบริการขนส่ง ด้วยพลังงานสะอาดให้บริการผู้โดยสารบีทีเอสเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้าตลอดเส้นทางแบบ First Mile to Last Mile
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัว “รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต)” โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem หรือระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ในปี 2593
วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี โลกดีขึ้น จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง และประเทศดีขึ้น จากการที่วินโนหนี้ พัฒนาโดยคนไทยในประเทศไทย ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม การพัฒนาคนและการสร้างงานในประเทศ
ในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของวินโนหนี้ ในการร่วมเริ่มต้นธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติของวินโนหนี้ ที่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสถานีที่จะตั้งเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อให้เกิดความสะดวกและเพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารบีทีเอสมีประสบการณ์การเดินทางแบบ First Mile to Last Mile ด้วยพลังงานสะอาด คือสามารถเดินทางออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้านด้วยการบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเส้นทาง
“การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือ การพิจารณากฏหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฏหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงทุนวิจัยและพัฒนา ฯลฯ สำหรับ วินโนหนี้ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573 เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลก ผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ “ดีต่อเราและต่อโลก” นายชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย