EN

09 กุมภาพันธ์ 2567

บางจากฯ หนุนเครือข่ายพันธมิตร รับใบประกาศเกียรติคุณ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก” (LESS)

ผลักดันแนวคิด “ลดขยะต้นทางกับบางจากฯ” อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้กว่า 41 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผลักดันแนวคิด “ลดขยะต้นทางกับบางจากฯ” อย่างเป็นรูปธรรม หนุนมูลนิธิใบไม้ปันสุข และพันธมิตร รับใบประกาศเกียรติคุณ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซ เรือนกระจก” หรือ โครงการ LESS: Low Emission Support Scheme จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้ง พนักงาน ลูกค้า โรงเรียนรอบโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง และโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมลดขยะจากต้นทาง ผ่าน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ และโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สามารถรวบรวม ของเสียเกือบ 10 ตัน ให้กลับเข้าสู่ระบบด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการมูลนิธิใบไม้ปันสุข กล่าวว่าบางจากฯ มีความมุ่งมั่นในการรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจตระหนักถึงวิกฤตภูมิอากาศและการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ผ่านหลากหลายภารกิจเพื่อร่วม “ลดขยะต้นทางกับบางจากฯ” โดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีซี (SCGC) และ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้มีแนวปฏิบัติและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม การได้รับใบประกาศเกียรติคุณนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สามารถประเมินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดเก็บวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ นำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์อื่น ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วย Circular Economy ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมผ่านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้บริหารมูลนิธิใบไม้ปันสุข และพันธมิตร ได้เยี่ยมชมโรงเรียนวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายมูลนิธิใบไม้ปันสุขที่ได้เข้าร่วมโครงการรักษ์ปันสุขจูเนียร์ รุ่นแรก ตั้งแต่ปี 2564 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี และเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านจัดการขยะในโครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ (ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 7 ตันคาร์บอนฯ ในปีที่ผ่านมา) และได้ต่อยอดดำเนินโครงการอื่น ๆ ในด้าน การดูแลสิ่งแวดล้อมจนได้เป็นโรงเรียนต้นแบบของเขตบางซื่อและของกรุงเทพมหานคร

นายวิรุตน์ กระรันต์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนวัดสร้อยทอง กล่าวว่า เป็นโอกาสดีมาก ที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ ได้รับการสนับสนุนด้านอบรมความรู้ มอบสื่อสถานีเรียนรู้ ด้านการจัดการขยะที่เป็นระบบ รวมถึงอุปกรณ์และทุนตั้งต้นในการบริหารจัดการของเสีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่มี คุณค่ามาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณครู นักเรียน ร่วมใจทำอย่างจริงจัง ทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ทุกคนเกิดพฤติกรรมที่ดี และจิตสำนึกร่วมที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม โรงเรียนได้ต่อยอดสถานีเรียนรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม และได้รับการยอมรับเรื่องจัดการขยะจนเป็นต้นแบบ

บางจากฯ ร่วมกับ SCGC ริเริ่มโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” ในปี 2564 เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน แก่โรงเรียนรอบโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ และโรงเรียนในเครือข่ายของมูลนิธิใบไม้ปันสุข โดยร่วมพัฒนา 8 ฐานเรียนรู้ด้านการจัดการของเสียในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เยาวชนในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียน 17 แห่ง ในเครือข่ายมูลนิธิใบไม้ปันสุขที่ร่วมโครงการสามารถจัดการของเสียได้ถึง 9,060 กิโลกรัม (ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566) และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 39.2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะที่โครงการเก็บกล่องสร้างบ้านเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก ซึ่งได้ร่วมมือกับเต็ดตรา แพ้ค ในการตั้งจุดรวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก 6 แห่ง สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ โรงกลั่น บางจาก พระโขนงและศูนย์จ่ายน้ำมันบางจาก 2 แห่ง และโรงเรียนรอบโรงกลั่นพระโขนง 7 แห่ง ส่งผลให้สามารถจัดการของเสียได้ถึง 715 กิโลกรัม (ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2566) สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 2.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือ LESS โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ (Letter of Recognition: LOR) เพื่อให้ผู้ดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกได้รับการยอมรับ โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินทางเทคนิควิชาการ เป็นการประเมินเบื้องต้นเพื่อการประกาศเกียรติคุณ