11 สิงหาคม 2564
กลุ่มบางจากฯ ครึ่งปีแรก ทำ EBITDA สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 9 พันล้านบาท
เร่งจัดทำโครงการเพื่อสังคม ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19
ผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจากฯ ครึ่งปีแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 85,006 ล้านบาท EBITDA สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9,006 ล้านบาท ได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายในหลายๆ ประเทศ ส่วนในประเทศไทย ที่สถานการณ์ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่นการจัดหาวัคซีน รวมถึงเร่งจัดทำโครงการเพื่อสังคม ดูแลชุมชนรอบด้านและผู้มี ส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19 ร่วมกัน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ของกลุ่มบางจากฯ ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 85,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 มี EBITDA สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 737 มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 162 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.80 บาท จากการได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ ใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น
โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในครึ่งปีแรก 2564 อยู่ที่ 63.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากครึ่งปีแรกของปี 2563 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 3,773 ล้านบาท และธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานทรงตัวในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA 371 ล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่เข้าลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนข้างต้นมาช่วยกลุ่มธุรกิจการตลาดและกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับลดลง จากการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินที่ยังอยู่ในระดับต่ำ บริษัทฯ จึงได้ทำการปรับโรงกลั่นเป็น Niche Products Refinery นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด เช่น UCO (Unconverted Oil) มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวจากไตรมาส 2 ปี 2563 ผลิตสารทำละลาย (Solvent) ภายใต้ชื่อ BCP White Spirit 3040 และยังวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2564 ความต้องการใช้น้ำมันอาจได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะในเอเชีย ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศกลับมาใช้มาตรการคุมเข้ม ส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั้งประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและ การให้บริการ 43,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มี Operating EBITDA 3,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มี EBITDA 4,269 ล้านบาท ลดลงร้อยละ10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มี Inventory Gain 1,299 ล้านบาท มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,765 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.21 บาท โดยมีผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
- ผลการดำเนินงานปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากในไตรมาสนี้มี Inventory Gain 1,171 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในอัตราต่ำกว่าไตรมาสก่อน ในขณะที่ในไตรมาส 2 ปี 2563 มี Inventory Loss
- ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุมาจากการจัดการน้ำมันดิบที่มี Crude Premium อ้างอิงกับน้ำมันดิบเดทเบรนท์ปรับลดลง รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ (Crack Spread) ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ กลับมาเดินเครื่องตามปกติ หลังหยุดซ่อมบำรุงตามวาระในไตรมาสแรก ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้ปรับ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 107,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 89 ของกำลังการผลิตรวม
- ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading Pte. Ltd. มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และกำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำ ตามอุปสงค์น้ำมันที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
2. กลุ่มธุรกิจการตลาด
- ผลการดำเนินงานปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มี Inventory Gain น้อยกว่าไตรมาสก่อน
- มีค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากต้นทุนผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับลดลง และนโยบายในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- ในไตรมาสนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายการบริหารจัดการต้นทุน ส่งผลให้ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยลดลงเล็กน้อย
- ปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจตลาดปรับลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามตลอดทั้งไตรมาส แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกแรกมีความเข้มงวดมากกว่า
- มีการจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากที่สายการบินกลับมาเปิดเส้นทางบิน มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 15.9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2 (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 มีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน 1,247 สถานี และมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ติดตั้งในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 27 สถานี ให้บริการใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ
- มีการขยายธุรกิจ Non-Oil มีร้านกาแฟอินทนิลจำนวน 711 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 และมีจำนวนแก้วขายต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนของยอดขายผ่าน Online Delivery Platform เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90 จากไตรมาสก่อน รวมทั้งแตกไลน์ธุรกิจเครื่องดื่ม ซื้อสิทธิ์การขยายร้านชานมไข่มุก DAKASI เพื่อจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขาในปีนี้
3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
- ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณจำหน่ายกระแสไฟฟ้าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้า และช่วงปีก่อน โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว ที่มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ อีกทั้งการเข้าลงทุนเพิ่มในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยใหม่ จำนวน 4 โครงการ (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกะวัตต์) ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น
- รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 157 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ 4 ล้านบาท และธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย 153 ล้านบาท
- BCPG ได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Utility-Scale Energy Storage System) หรือ แบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ (Vanadium Redox Flow) โดยซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy Inc.) วงเงิน 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลดข้อจำกัดในด้านความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI
- ผลการดำเนินงานปรับลดลงเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ธุรกิจไบโอดีเซล กำไรขั้นต้นลดลงเนื่องจากต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบที่นำมาผลิตในไตรมาสนี้ยังไม่สามารถปรับได้ทันกับราคาขาย B100 ที่ปรับลดลง จากการที่ผลผลิตปาล์มทยอยออกสู่ตลาดตามฤดูกาล ในขณะที่กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น จากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคา B100 (ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน) ปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก
- ธุรกิจเอทานอล กำไรขั้นต้นลดลงเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้า และช่วงปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาต้นทุนวัตถุดิบหลักปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้งรุนแรง และจากปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังในประเทศปรับสูงขึ้น อีกทั้งความต้องการใช้เอทานอลเกรดอุตสาหกรรมปรับลดลง และมีราคาจำหน่ายสูงกว่าเกรดเชื้อเพลิง
- BBG ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก จำนวน 1,300 ล้านบาท รวมทั้งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ “BBB+” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
- BBGI นำเข้า Astaxanthin Ingredients ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (High Valued Bio-Based Products) และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ในการต่อต้านริ้วรอย บำรุงผิว โดยได้จำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบ Business-to-Business (B2B) และมีแผนจะจำหน่ายในรูปแบบ Business-to Customers (B2C) ภายใต้แบรนด์ B Nature Plus
- บริษัท วิน อินกรีเดียนส์ จำกัด (WIN) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BBGI และ Manus Bio Inc. ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำหรับอาหาร (แบบ อ.18) สำหรับสารให้ความหวาน Neotame เพื่อการจำหน่ายในประเทศไทย และได้แต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายสารให้ความหวานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เรียบร้อยแล้ว ในเดือนมิถุนายน 2564
5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
- ผลการดำเนินงานดีขึ้น เมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA 371 ล้านบาท นับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่การเข้าลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และมีรายได้จากราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น
- มีการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของแหล่ง Yme ที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ส่งผลให้โครงการมีกระแสเงินสดดีขึ้น โดยจะเริ่มผลิตได้ตามแผนในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ OKEA 7,500 บาร์เรลต่อวัน โดยในปีแรกของการผลิตจะเพิ่มกำลังการผลิต 5,600 บาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นจากการประเมินรอบแรกที่ 4,900 บาร์เรลต่อวัน
- OKEA มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งแก๊ส Hasselmus ซึ่งเป็นโครงการแรกที่ OKEA ทำหน้าที่เป็น Operator ของโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และเป็นโครงการแรกที่จะเชื่อมต่อกับ production platform ของแหล่ง Draugen ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 4 ปี 2566
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่ยังแพร่ระบาดหนักและมีความรุนแรงมากกว่า ที่ผ่านมา รวมทั้งมียอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด กลุ่มบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ ได้ช่วยดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้มีพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในอัตราสูง อีกทั้งการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขั้นสูงสุด เช่น การใช้มาตรการ Bubble and Seal กับพนักงานที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิต นำนโยบายปฏิบัติงานที่บ้าน (WFH) มาใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน และจัดเตรียมศูนย์พักเฝ้าระวังพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง โควิด-19 เป็นต้น การส่งมอบความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานต่างๆ และให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนรอบโรงกลั่น เช่น สนับสนุนบัตรเติมน้ำมันบางจากให้โครงการรถพยาบาลอาสา ทีมอาสาสมัคร รวมถึงวัดต่างๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับโควิด-19 สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนกรมการแพทย์แผนไทยฯ ในโครงการส่งฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วย สีเขียวที่บ้าน ส่งมอบหน้ากากอนามัย เจลล้างมืออนามัยมิโดริ น้ำดื่ม โครงการปันกันอิ่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ ในด้านการดำเนินธุรกิจได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสม และยังคงคุมเข้มมาตรการลดค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุน รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ