10 พฤศจิกายน 2564
ผลประกอบการไตรมาส 3 บางจากฯ กำไร 1,820 ล้านบาท พร้อมก้าวสู่องค์กรยั่งยืน 100 ปี สร้างความมั่นคงในทุกกลุ่มธุรกิจ และเร่งรัดลงทุนที่เป็นมิตรกับโลก
ผลประกอบการบางจากฯ 9 เดือนแรก ปี 64 มีกำไร 5,868 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 มีกำไร 1,820 ล้านบาท จากปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาน้ำมันโลก รับรู้รายได้จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม OKEA ที่นอร์เวย์ วางแผนก้าวสู่องค์กรยั่งยืน 100 ปี เร่งรัดการลงทุนที่เป็นมิตรกับโลก สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน Carbon Markets Club โดยตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ใน คศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero GHG emissions) ใน คศ. 2050 พร้อมพัฒนารูปแบบธุรกิจ non-oil ตอบโจทย์การใช้ชีวิตผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้มี ส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่คงดำเนินอยู่
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท บางจากฯ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 132,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และมี EBITDA 16,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1,121 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย) รวมถึงได้รับปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน หลังจากมีความคืบหน้าในการ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 66.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 24.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ ร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 5,159 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานทรงตัวในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น และได้ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นและเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO (Unconverted Oil) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนค่าการกลั่น
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการตลาดและกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลงอย่างมาก อีกทั้งค่าการตลาดรวมสุทธิยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่บริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปและราคาผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานได้รวมผลของการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดย EBITDA ของ OKEA ที่รวมอยู่ในงบการเงินรวมมีจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท อีกทั้งมีผลจากการกลับรายการด้อยค่าเงินลงทุนใน OKEA 400 ล้านบาท และมีกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) (UBE) 616 ล้านบาท เนื่องจาก UBE เสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 5,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 181 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.05 บาท
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 47,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมี EBITDA 7,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA และมี Inventory Gain 1,386 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่มีค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลง จาก Crude Premium อ้างอิงกับน้ำมันดิบเดทเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการตลาดมีค่าการตลาดรวมสุทธิและปริมาณการจำหน่ายที่ปรับลดลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีการบันทึกกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน UBE ส่งผลให้ ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.25 บาท โดยมีผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
- ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 212 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ในไตรมาสนี้ธุรกิจ โรงกลั่นมี Inventory Gain 1,261 ล้านบาท
- ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO (Unconverted Oil) เพื่อช่วยหนุนค่าการกลั่น และรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 111,400 พันบาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็น ร้อยละ 93 ของกำลังการผลิตรวม
2. กลุ่มธุรกิจการตลาด
- ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 32 และ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม โดยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม - กันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 16 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 15.6 สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2 (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน)
- ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Chargers) ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 40 สถานี ให้บริการใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ และมุ่งขยายธุรกิจ Non-Oil โดย ณ สิ้นไตรมาส มีร้านกาแฟอินทนิล 739 สาขา และมีร้านชานมไข่มุก DAKASI 12 สาขาและพัฒนาธุรกิจ “บางจาก Food Truck” ณ สิ้นไตรมาส มี 5 สาขา
3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
- ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากปริมาณจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น จาก สปป.ลาวที่ปรับเพิ่มขึ้น และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 150 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย
- บริษัท Impact Energy Asia Development Limited (IEAD) บริษัทร่วมของบีซีพีจีฯ ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Vietnam Electricity กำลังการผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ที่ชายแดน สปป.ลาว-เวียดนาม อายุสัญญา 25 ปี
- ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดหาเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เป็นครั้งแรก
4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI
- ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 201 และ 128% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้กำไรจากการเปลี่ยนสถานะเงินลงทุนใน UBE จากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเป็นเงินลงทุนทั่วไป เนื่องจาก UBE ได้ทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก
- ธุรกิจไบโอดีเซล ได้รับผลกระทบจากปริมาณการจำหน่าย B100 ที่ปรับลดลง แต่กำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับ ไตรมาสก่อน ส่วนธุรกิจเอทานอล กำไรขั้นต้นปรับลดลงร้อยละ 48 และ 82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการจำหน่ายเอทานอลที่ปรับลดลง ในขณะที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มูลค่าสูง (High Value Products (HVP) ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ สู่ผู้บริโภคโดยตรงภายใต้แบรนด์ B Nature Plus
- ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 216.60 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดในครั้งนี้ มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท
5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
- รับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท BCP Energy International Pte. Ltd. (BCPE) 122 ล้านบาท
- มี EBITDA ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 158 และ 622 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซปรับเพิ่มขึ้น
- โครงการ YME เริ่มการผลิตในเดือนตุลาคม 2564 ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านกำลังการผลิตและกระแสเงินสดให้กับ OKEA โดยในปีแรกจะเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ OKEA 5,600 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,500 - 16,500 บาร์เรลต่อวัน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงจากการเร่งฉีดวัคซีน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทยอยปรับลดลง บริษัท บางจากฯ ได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Hybrid Workplace ให้พนักงานสามารถทำงานแบบผสมผสานกันระหว่างการปฏิบัติงานที่บ้านและสำนักงาน เพื่อความกระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้มีพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วในอัตราสูง รวมทั้งจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการพ่นฆ่าเชื้อที่สำนักงานเป็นประจำ จัดรถตรวจคัดกรองเชื้อ โควิด-19 เคลื่อนที่ (Antigen test mobile unit) ให้กับพนักงานบางจากและในกลุ่มทุกสัปดาห์ รวมถึงพนักงานในสถานีบริการน้ำมันฯ และร้านกาแฟอินทนิลเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเมื่อเข้ามาใช้บริการ
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจและแผนการลงทุน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมและสามารถตั้งรับกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้น พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปี ที่แข็งแรงและมั่นคง