25 พฤศจิกายน 2565
โลกร้อนกับการเกษตร
คอลัมน์ Everlasting Economy พฤศจิกายน 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในที่สุดการประชุม COP 27 (เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27) ก็ได้จบลงโดยที่สมาชิกกว่า 200 ประเทศได้ลงนามความเข้าใจในการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย Loss and Damage Fund โดยประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งก็เป็นชัยชนะของประเทศเกิดใหม่ (emerging countries) และประเทศเล็ก ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะหรือ Alliance of Small Island States; AOSIS ที่อาจจะต้องสูญเสียความเป็นประเทศเพราะจะถูกจมลงใต้ทะเล เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายและปริมาณน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากโลกที่ร้อนขึ้น
ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่ยากจนในทวีปแอฟริกานั้นก็ได้ต่อสู้มาตลอดว่า เขาเพิ่งจะได้เริ่มพัฒนาประเทศ และไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะ go green เหมือนประเทศที่ร่ำรวยอย่างยุโรปหรืออเมริกา แถมประเทศเหล่านี้ ที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบันก็ได้ปล่อยคาร์บอนสะสมในชั้นบรรยากาศโลกไว้มากมาย (ข้อมูลจาก ธนาคารโลก 50% ของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา) จึงควรที่จะเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายหลักในการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน และควรจะช่วยอุดหนุนให้กับเหล่าประเทศที่ยากจนอีกด้วย รายละเอียดของกองทุนดังกล่าวก็คงต้องติดตามกันต่อไป
ภาคเกษตรกรรม น่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศยากจนเหล่านั้น วันนี้ผมเลยจะมาชวนคุยว่าผลจาก Climate Change กระทบต่อภาคการเกษตรอย่างไรบ้างและถ้ามีการตั้งกองทุนดังกล่าวแล้วจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร
อย่างที่เราทราบกันว่า การปลูกต้นไม้เป็นการกักเก็บคาร์บอน เพราะต้นไม้จะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ไปสังเคราะห์แสงแล้วแปลงเป็นเยื่อไม้ต่อไป ฉะนั้นการที่มีคาร์บอนในอากาศมากขึ้นก็น่าจะส่งผลต่อผลผลิตทางเกษตรในแง่บวก ซึ่งการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า เมื่อเปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 1992 กับ 2020 นั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 แต่ซีเรียลหรืออาหารเช้าของฝรั่งที่ทำจากพืชพรรณพวกข้าวโพด ข้าวสาลีนั้นกลับมีผลิตผลโตมากกว่านั้นมากในเชิงปริมาณ โดยสามารถผลิตได้ถึง 3,000 ล้านตันต่อปี ทั้ง ๆ ที่พื้นที่เพาะปลูกไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะเติบโตเร็วกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้ว ยังเติบโตเร็วกว่าอัตราการเกิดของประชากรโลกอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบริโภคซีเรียลต่อหัวที่สูงขึ้น จะว่าไปแล้ว มันก็ทำให้การเข้าถึงอาหารของประชากรโลกได้ดีขึ้น
การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นอาจจะเป็นแง่มุมที่ดีจากภาวะโลกร้อนต่อภาคการเกษตร แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีผลกระทบ เพราะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบอกว่าเมล็ดพันธุ์ของพืชเหล่านี้มีขนาดเล็กลงตั้งประมาณ 10-40% จากการที่โลกร้อนขึ้น ซึ่งถ้าเราลองสังเกตดู ผลไม้บ้านเราเองก็มีขนาดเล็กลง เมื่อเทียบกับผลิตผลเมื่อสัก 40-50 ปีก่อน
การเพิ่มขึ้นของผลผลิตการเกษตรนั้น นอกจากอากาศที่เปลี่ยนแล้ว ยังมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ช่วยทำให้มีประสิทธิผลที่ดีขึ้น ทั้งการปรับปรุงสายพันธุ์ การควบคุมภาวะการผลิต การบำรุงดินต่าง ๆ เป็นต้น จนถึงเรื่องของ gene editing (การปรับเปลี่ยนโครงสร้างยีนในลำดับดีเอ็นเอ) ที่ทำให้เมล็ดพันธุ์สามารถออกผลได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งทนต่อความแห้งแล้ง โดยจะยังสามารถยืนต้นได้แม้ไม่มีน้ำเป็นเดือน เป็นต้น ซึ่งทำได้ดีในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกานั้น กว่า 94% ยังไม่มีระบบชลประทานหรือไม่มีระบบการพยากรณ์อากาศ คงไม่ต้องพูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ก็เลยทำให้ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำมาก เมื่อการลงทุนเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่า ๆ ตัว เพราะเริ่มจากฐานที่ต่ำมาก และจะทำให้ชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนไปทันที
กรณีศึกษาที่สำคัญอันหนึ่งจาก กลุ่ม CGIAR ที่เป็นกลุ่มวิจัยจากฟินแลนด์ได้ทดลองนำสายพันธุ์ของข้าวโพด (maize) ที่ทนทานต่อความแห้งแล้งมาทดลองในพื้นดินที่เพาะปลูกไม่ได้ในแอฟริกา ปรากฏว่าผลผลิตดีขึ้น 30% และทำให้ประชากรชาวแอฟริกากว่า 2 ล้านคนได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 15,000 เหรียญสหรัฐต่อปีเท่านั้น หรือตัวแทนกลุ่มเดียวกันได้ไปช่วยเหลือเกษตรกรในแซมเบีย โดยไม่ให้เผาเศษไม้จากผลิตผล แต่ให้ฝังกลบกลับไปเป็นปุ๋ย ทำให้ผลิตผลเพิ่มขึ้นถึง 88% และครอบคลุมถึง 200,000 ครัวเรือน
หรือในศรีลังกาที่มีโครงการให้เกษตรกรสามารถทดลองปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานต่อความแล้ง สามารถเข้าโครงการพยากรณ์อากาศผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการติวหรือให้ข้อมูลวิชาการผ่านมือถือ และมีการประกันความเสี่ยงจากบริษัทประกันภัย โดยขายเป็นแพคเกจ ราคา 15 เหรียญสหรัฐต่อแพค ซึ่งบริษัทประกันก็มีข้อมูลของเกษตรกร และทำให้สามารถประกันได้ที่ค่าเบี้ยถูก ๆ เกษตรกรก็กล้าที่จะทดลองเมล็ดพันธุ์ใหม่ เพราะว่าใช้เงินเพียงเล็กน้อยเพื่อทดลอง ซึ่งต้นทุนดังกล่าวถูกกว่าต้นทุนในการเหมารถน้ำมารด เวลาอากาศแล้ง จึงทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
จากการเกิดของ Loss and Damage Fund จาก COP 27 ก็หวังว่าจะทำให้กรณีศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และอย่างน้อยก็ช่วยให้ชีวิตของอีกหลายพันล้านคนดีขึ้นนะครับ เพราะกว่า 1,000 ล้านคนของประชากรโลก 8,000 ล้านคนต้องยังอยู่อย่างยากจน และความมั่นคงทางอาหารเริ่มเป็นประเด็นที่สำคัญพอ ๆ กับความมั่นคงทางพลังงานครับ