31 มีนาคม 2563
ความตกลงปฏิญญาปารีสกับ โควิด-19
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มีนาคม 2563
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ว่ากันว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ (planet earth) นั้นเป็นสิ่งมีชีวิต เพียงแต่ช่วงชีวิตของโลกนั้นยาวเกินจนเราไม่สามารถสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงได้ อุปมาอุปไมยก็คล้ายๆ กับแมลง ที่อาจจะไม่รู้ว่าต้นไม้มีชีวิต เนื่องจากอยู่เพียงไม่กี่วันก็ตาย จึงไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งต้นไม้ก็ไม่เคลื่อนไหว และชั่วชีวิตของแมลงไม่สามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ที่ยาวกว่าได้ เหมือนกับชั่วชีวิตของคนเรานั้นคล้ายๆ กับแมลงที่สั้นเกินไปที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปรียบเสมือนต้นไม้ หรือที่นักคณิตศาสตร์พูดว่า ส่วนที่สั้นที่สุดของวงกลมนั้นเป็นเส้นตรง หรือเส้นตรงทุกเส้นเป็นส่วนที่สั้นที่สุดของวงกลม จนเราคิดว่ามันเป็นเส้นตรง แต่จริงๆ คือส่วนหนึ่งของวงกลม
ในเมื่อโลกเป็นสิ่งมีชีวิต และเมื่อมีสิ่งระคายเคือง จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านั้น เหมือนเวลาเราโดนยุงกัดหรือแมลงวันตอม เราก็จะตีหรือปัดมัน ทีนี้ เมื่อมนุษย์เราใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไม่บันยะบันยัง จนเกิดสิ่งเรียกว่า ภาวะโลกร้อนจึงมีการปรับตัว จากที่เราเริ่มเห็นถึงความแปรปรวนของอากาศ ที่หน้าแล้งที่แล้งจัด หรือไม่ก็เกิดพายุที่ก่อตัวอย่างรุนแรงขึ้นในหน้าฝน จนทำให้น้ำท่วม บ้านพังจนถึงหิมะที่ไม่ตกในฤดูหนาวหรือตกผิดฤดูกาล แม้มนุษย์จะเริ่มตกลงในปี 2559 (ค.ศ.2016) ว่าจะพยายามลดภาวะโลกร้อนตามความตกลงปารีส แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นเป้าหมายเคลื่อนที่ ที่ต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เพราะระบบทุนนิยมที่ต้องตอบโจทย์ของผู้ถือหุ้น และต้องเห็นกิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เลยทำให้การบริโภคทรัพยากรยังไม่สามารถลดลงได้ ฉะนั้นทำให้ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เกิดปรากฏการณ์ที่มีการกล่าวกันว่า ธรรมชาติได้ส่งเชื้อไวรัสโควิดมาเป็นตัวปรับสมดุลให้โลก นั่นคือไวรัสโควิด-19
เรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไวรัสโควิด-19 เกิดจากอะไร แต่จากสามเดือนที่ผ่านมา ทางการแพทย์สามารถตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ง่ายมาก ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนการเสียชีวิต (Mortality) ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่ง ณ วันที่เขียนต้นฉบับ มีผู้ติดเชื้อแล้วทั่วโลกกว่า 355,000 คนและเสียชีวิตมากกว่า 16,000 คน คิดเป็นประมาณ 3% และวิธีเดียวที่จะลดความรุนแรงนี้คือการเก็บตัวอยู่ที่บ้านและออกสังคมให้น้อยลง ซึ่งผลจากการทำ social distancing หรือการ lock down ก็เปรียบเสมือนหนึ่งว่า โลกใบนี้ของเรา “ปิดกิจการชั่วคราว” ด้วยการยกเลิกของเที่ยวบินกว่า 60% การลดการสังสรรค์และการเดินทางระหว่างกัน อย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งจากการสังเกตของ NASA ที่ประเทศจีนเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสารเป็นพิษ เช่น NOx (ไนโตรเจนออกไซด์) หรือ SOx (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) ลดลงอย่างชัดเจน หรือในกรณีของประเทศอิตาลี ที่เริ่มเห็นมีปลาและหงส์กลับมาแหวกว่ายในเมืองเวนิช จึงคาดการณ์ว่า การบริโภคทรัพยากรอย่างน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลจากการบริโภค ก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน และเชื่อว่า หลังจากมรสุมโควิดผ่านพ้นไปแล้ว การใช้ชีวิตของพวกเราในสังคมโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างกัน หรือการใช้ IT และ Video Conference มากขึ้น นี่อาจจะเป็นวิธีทางธรรมชาติที่ช่วยให้เราลดโลกร้อนก็เป็นได้
ในขณะนี้ มีสถาบันศึกษา สถาบันวิจัย และ start up แข่งกันวิจัยเพื่อทดลองหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตามที่เราเห็นข่าวว่าทั้งที่เทียนจิน ประเทศจีน มลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย หรือที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกาได้มีการวิจัยและคาดว่าได้พบวัคซีนแล้ว แต่ยังมีกระบวนการทางแพทย์ที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนจากห้องทดลองนั้นปลอดภัยกับมนุษย์ จึงจะนำมาทดลองกับคนกลุ่มเล็กๆ หรือ clinical test และเมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงค่อยติดต่อผู้ผลิตรายใหญ่หรือบริษัทยาข้ามชาติเพื่อผลิตเป็นจำนวนมากออกจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Coatoition for Epidemic Prepareness Innovations (CEPI) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมระหว่างรัฐบาลสหรัฐ ภาคเอกชน และองค์กรการกุศล คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 12-18 เดือนเป็นอย่างเร็วกว่าที่วัคซีนดังกล่าวจะสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากพอที่จะรองรับประชากรโลก
ระหว่างที่เรารอวัคซีนรักษาโควิด-19 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณปีถึงปีครึ่ง สิ่งที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำได้ทันทีคือ การรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ และรักษาระยะห่างระหว่างกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราปลอดภัยจากหวัดโควิดแล้ว ยังช่วยรักษาไม่ให้โลกร้อนอีกด้วยครับ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรงนะครับ