29 กุมภาพันธ์ 2563
โลกกับคาร์บอนไดออกไซด์
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2563
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมกับผู้นำโลกทั้งด้านการเมือง ธุรกิจและสังคม เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในงาน World Economic Forum ที่ Davos ประเทศสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์เป็นปีที่สอง ขอนำเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าให้ฟังกันนะครับ
ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของการประชุม จึงเป็นงานที่จัดใหญ่พอสมควรและมีผู้นำของประเทศชั้นนำเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ผมเองพอเครื่องลงที่ซูริคก็นั่งรถเข้าดาวอสซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เมืองนี้เป็นสกีรีสอร์ตที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,100 เมตร ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะถูกปกคลุมด้วยหิมะ ก่อนเข้าเมือง หลังจากผ่านด่านตรวจแล้ว จะมีพื้นที่โล่งๆ ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหิมะ มีศิลปินมือดีเขียนว่า There is No Planet B หรือน่าจะแปลเป็นไทยว่า เราไม่มีโลกสำรองอีกใบแล้ว ซึ่งคงจะหมายถึงการที่เราใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยังและส่งผลให้โลกที่เราอยู่มีภาวะที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งน่าจะรวมถึงโลกร้อนด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่อุณหภูมิของดาวอสในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วถึงกว่า 10 องศา
สาระที่พูดคุยกันในดาวอสก็หลากหลายทั้งด้านการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจนมากขึ้น ด้านสงครามเย็นในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ deepfake (การปลอมแปลงเนื้อหาตั้งแต่ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ บทความ) ในโลกโซเชียล แต่ผมขอเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องคือพลังงานกับภาวะโลกร้อน ซึ่งก็ยังมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานหมุนเวียนในส่วนของการผลิต ไปจนถึงการที่เราควรจะมีป้ายบนสินค้าเพื่อแจ้งผู้บริโภคว่าสินค้าที่ใช้นั้นมี carbon footprint เท่าไร แต่ที่ผมอยากจะมาแชร์นั้นเป็นเรื่อง Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่กับเรามานาน แต่ถ้ามีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการลดโลกร้อน โดยเฉพาะเมื่อระบบการซื้อขายคาร์บอน หรือ carbon credit trading platform มีเป็นรูปเป็นร่าง และกลุ่ม Oil and Gas Congress มองว่าน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้
เป็นเวลานับพันปีที่ธรรมชาติได้ออกแบบระบบนิเวศน์ที่ให้พืชและไม้พันธุ์ต่างๆ ทำหน้าที่ในการดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศ แล้วเก็บไว้ในรูปของลำต้น กิ่ง ใบหรือ biomass เมื่อต้องการใช้พลังงาน ก็เผาไบโอแมสดังกล่าว แล้วคาร์บอนจากการเผาก็จะถูกดูดซับด้วยพืชพรรณที่ว่า อันเป็นวงจรที่สมบูรณ์โดยธรรมชาติและทำให้โลกสมดุล หรือ carbon neutral
จึงมีความคิดที่จะนำคาร์บอนมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม โดยรายแรกๆ ที่ทำ คือกลุ่ม Schweppes ใช่ครับ นำมาทำเป็นน้ำโซดาตั้งแต่ช่วงศตวรรษ 17 แล้วก็พัฒนาต่อมาเป็นน้ำอัดลม ทั้งสีดำและหลากสีที่เราดื่มกัน แต่เมื่อเทียบปริมาณกับการปล่อยคาร์บอนแล้วน้อยมากจนแทบจะไม่เห็น หลังจากนั้น เมื่อสักห้าสิบปีที่ผ่านมา ในวงการการขุดเจาะน้ำมันก็ได้ค้นพบวิธีที่ใช้ CO2 เป็นตัวไล่ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่ติดหรือ trapped อยู่ในร่องหิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำน้ำมันดิบออกมาใช้ และเมื่อน้ำมันออกมา คาร์บอนจะถูกฝังกลับไปในใต้โลกตามแหล่งที่มา เป็นวิธีที่ดีและได้ผลทีเดียว ข้อมูลล่าสุดจาก IEA ระบุว่ามีน้ำมันที่ผลิตจากวิธีดังกล่าวมีมากถึง 500,000 บาเรลล์ต่อวัน มากกว่าที่ประเทศไทยผลิตได้ทั้งประเทศกว่าเท่าตัว
ที่กล่าวมาคือการจัดการนำคาร์บอนกลับไปเก็บ แต่ที่ยากกว่านั้นคือเราจะแยกคาร์บอนออกมาได้อย่างไร
แม้จะเป็นตัวปัญหา แต่สัดส่วนของคาร์บอนในอากาศทั่วๆ ไปมีแค่ 0.04% หรือพูดง่ายๆ คือถ้าเราหายใจเข้าปอด 10,000ครั้ง มีแค่ 4 ครั้งที่เป็น CO2 เต็มปอด ซึ่งก็น้อยมาก การสกัดออกมาโดยตรงหรือ Direct Air Capture (DAC) จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากในเชิงพาณิชย์ แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีระบบการซื้อขาย carbon credit มีผลอย่างมากที่จะสนับสนุนให้บริษัทผู้ขุดเจาะน้ำมันอย่าง Occidental Petroleum ได้เริ่มอย่างจริงจัง โดยว่ากันว่าที่ระดับประมาณ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อ CO2 1 ตัน น่าจะทำให้ธุรกิจนี้เกิดได้ นอกจากนี้ ก็มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้านอื่นๆ เช่นกัน เช่น start up ชื่อ Net Power ได้สร้างโรงไฟฟ้าที่เผาก๊าซธรรมชาติร่วมกับอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์ ทำให้ได้ CO2 ร้อนหลังจากปั่นไฟฟ้าแล้ว มาเก็บเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันดิบดังที่อธิบายข้างต้น หรือแม้กระทั่งฉีดกลับเข้าไปในหลุมบ่อที่ว่างเปล่าอย่างที่เกิดขึ้นในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) ในอัตราสูงมาก
ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นแค่จุดเล็กๆ ที่นำคาร์บอนกลับมากักเก็บลงใต้พื้นโลก สถิติบอกว่ากระบวนการ CCS ที่ใช้งานได้ในปัจจุบันนั้น ปริมาณที่สามารถเรียกคืนได้ คิดเป็นไม่กี่ชั่วโมงที่เราปล่อยออกในแต่ละปี (ปีหนึ่งมี 8,760 ชั่วโมง ก็ประมาณ 0.02%) ฉะนั้นถ้าจะให้เป็นไปตาม Paris Agreement แล้ว มาตรการทั้งทางด้านภาษีแบบนอร์เวย์ มาตรการการอุดหนุนผ่านกลไกตลาดแบบรัฐแคลิฟอร์เนีย และการสนับสนุนงานวิจัย CCS อย่างจริงจังคงจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าจะลดอุณหภูมิโลกลง 2 องศาหมายถึงเราต้องเก็บ CO2 ลงไปใต้ดินระหว่างหนึ่งแสนล้านถึงหนึ่งล้านล้านตันภายในศตวรรษนี้ จากข้อมูลของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัวทีเดียวครับ