30 ตุลาคม 2562
เส้นใยมหัศจรรย์ : Wonder Web
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน ตุลาคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวกรณีพิพาทลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์มนุษย์แมงมุมหรือ Spider Man ระหว่าง Sony Pictures กับ Disney ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Marvel Studios ที่สร้างหนังเรื่องนี้มาหลายตอน ตั้งแต่แบบไตรภาคเมื่อปี 2545 จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของทีม Avenger ในปี 2553 และประสบความสำเร็จอย่างสูง ในฐานะที่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ตัวเอกเป็นเด็กวัยรุ่นล้วนๆ ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่แล้ว หรือมีพี่เลี้ยงอย่างกรณีแบทแมนกับโรบิน ทำให้กระบวนการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์ของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ที่เป็นร่างในมนุษย์ปกติของ Spider Man สามารถดึงดูดผู้ชมได้ดีทีเดียว และวลีที่ติดปากและเป็นข้อคิดของผู้นำทุกคนจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ With great power, comes great responsibility. หรือเมื่อเรามีอำนาจแล้ว ความรับผิดชอบยิ่งต้องสูงมากขึ้นอีก ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อคิดที่ดีมากเลยนะครับ
ผมเองคงไม่ได้มาพูดคุยเรื่องกรณีพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ เพียงแต่อยากจะเรียนว่าในภาคแรกตอนกำเนิดมนุษย์แมงมุมนั้น ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ หลังจากถูกแมงมุม radioactive spider กัด ทำให้เขาสามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่างเหมือนกับแมงมุม เช่น เกาะหรือไต่ไปตามพื้นผิวแข็งต่าง ๆ มีประสาทสัมผัสที่สามารถเตือนภัยที่กำลังจะมาถึงตัว หรือปล่อยใยแมงมุมจากมือได้ โดยใยที่ปล่อยจากมือนั้นมีความเหนียว ยืดหยุ่น แต่แข็งแรงและรับน้ำหนักได้มาก จนสามารถจับมนุษย์ปลาหมึก หรือ Doctor Octopus ที่หนักหลายตันในภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้
ถึงแม้ว่าในหนังจะมีความแฟนตาซีอยู่บ้าง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว Spider Silk หรือเส้นใยแมงมุมนั้นมีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง มีการเปรียบเทียบเส้นใยแมงมุมกับ Kevlar หรือสารสังเคราะห์ที่เรารู้จักกันดีว่าใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน และอีกหลายอย่างที่ต้องการน้ำหนักเบาแต่ทนทาน เช่น รองเท้า ยางรถ เรือใบ และเมื่อเทียบกันน้ำหนักต่อน้ำหนักแล้ว เส้นใยแมงมุมหรือ Spider Silk มีความทนทาน (Toughness) มากกว่า Kevlar 3-5 เท่า และมีความยืดหยุ่น (Elasticity) มากกว่า 5-10 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของแมงมุมที่ผลิตใย โดยแมงมุม Bark จากมาดากัสการ์มีเส้นใยที่มีคุณสมบัติดีที่สุด
เส้นใยของแมงมุม นอกจากเป็นวัตถุดิบสำหรับเสื้อเกราะได้แล้ว ยังมีคุณสมบัติเก็บอุณหภูมิได้ดี มีลักษณะเบา ยืดหยุ่น ทนทาน หรือแม้กระทั่งสามารถดับกลิ่นได้ จึงเป็นที่มาของวิธีการที่ 3 คือการนำมาใช้ผลิตเสื้อหรือรองเท้า เราเริ่มจะได้ยินถึง smart clothing หรือเสื้อที่นอกจากจะไม่ยับแล้วยังดับกลิ่นตัวได้ด้วยเป็นต้น เส้นใยแมงมุมยังเหมาะที่เป็นวัตถุดิบสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติหรือ 3D printer เมื่อเราต้องการสร้างอวัยวะทดแทน เนื่องจากคุณสมบัติทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะหาได้จากในธรรมชาตินี่และครับ นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมความงามหรือเครื่องสำอาง ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาฝนตก ใยแมงมุมจะมีหยดน้ำเกาะอยู่ นั่นคือใยแมงมุมสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นครีมเพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนังหรือใบหน้าของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย
นิยายเรื่องมนุษย์แมงมุม ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2505 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว แม้จะเป็นนิยายแฟนตาซี แต่หลายๆ อย่างในนิยายเรื่องนี้ก็มีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย ผมต้องขอย้ำอีกครั้งว่า นิยายวิทยาศาสตร์หรือ Science fiction ของต่างประเทศนั้น ผู้เขียนส่วนใหญ่มักมีการทำการบ้าน หาข้อมูลอย่างละเอียด และเมื่อต่อยอดด้วยจินตนาการ ก็จะเป็นแนวทางที่อาจจะคาดไม่ถึงในสมัยนั้น แต่ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถทำให้ความฝันดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง และช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้จริงเช่นกัน ส่วนกรณีพิพาทระหว่างโซนี่กับดิสนี่ย์ล่าสุด เห็นว่าได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พวกเราคงมีโอกาสได้ดูหนัง Spider Man ภาคใหม่เร็วๆ นี้และคงช่วยสร้างความบันเทิงและจรรโลงสมองพวกเราได้ไม่มากก็น้อยนะครับ