EN

30 กันยายน 2562

Bioplastic คำตอบหรือโจทย์ใหม่

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กันยายน 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

หลังจากเกิดวิกฤติปลาพะยูนมาเรียม เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้นเรื่องขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อสักสองอาทิตย์ก่อนก็มีการค้นพบไมโครพลาสติกในปลาทูที่เรารับประทานกันอยู่เนืองๆ ทำให้ตื่นตัวกันเพิ่มขึ้น แต่แล้วล่าสุดก็มีการสื่อสารกันทางโซเชียลถึงอันตรายของพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ทำจากพืช เช่นแป้งมันสำปะหลัง หรืออ้อย เป็นต้น ที่เป็นความหวังว่าจะสามารถสลายตัวได้ที่อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมเป็นเวลา 6 เดือน แต่ก็มีการวิพากษ์ทางเน็ตว่า พลาสติกชีวภาพสุดท้ายแล้วจะมีการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่สร้างปัญหาต่อไป และเมื่อพิจารณาถึงตลอดชั่วชีวิตตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถูกใช้งานและนำไปกำจัด หรือ Life Cycle Assessment:LCA แล้ว น่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าพลาสติกที่ทำจากฟอสซิลหรือน้ำมันเสียอีก ดูเหมือนว่าเรากำลังวิ่งเข้าสู่ทางตันหรือไม่

สิ่งแรกที่จะเล่าสู่กันฟังคือ เรามองพลาสติกเป็นตัวประหลาดยักษ์ที่ทำลายล้างโลกใบนี้และทำให้เกิดปัญหามากมายที่แก้ไขไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญนั้น คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของพลาสติกหลายอย่างที่ตอบโจทย์ยากๆ และทำให้เรามีชีวิตที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคงสภาพในรูปแบบต่างๆ การทนทานต่ออุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมาก หรือความสามารถในการโปร่งแสง ทึบแสง การทนต่อการแรงกระแทกและอื่นๆ ทำให้เราสามารถพัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ตอบโจทย์ได้เกือบในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่ถ้วยชาม คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน รถยนต์ เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ปัญหาหลักคือการกำจัดซาก และจะส่งผลอย่างยิ่งยวดหากเราใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ เม็ดบีดส์ในเครื่องสำอาง ขวดน้ำ หลอด แก้วกาแฟเย็น แกลลอนน้ำมันเครื่อง หรือถุงปูนซีเมนต์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างขยะอย่างมหาศาลและส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับสภาวะแวดล้อมและสัตว์น้ำ หรือแม้กระทั่งสัตว์ปีกอย่างที่ทราบกัน

เราจึงควรที่จะพิจารณาลด ละ เลิกใช้พลาสติกดังกล่าวให้มากที่สุด หรือนำมารีไซเคิล แต่พลาสติกนั้น ไม่เหมือนโลหะอย่างเหล็ก หรืออลูมิเนียม ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลโดยใช้ความร้อนหลอมแล้วกลับเป็นวัตถุดิบได้เลยเกือบสมบูรณ์ จากการที่พลาสติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เมื่อนำมารวมกัน จะทำให้ไม่สามารถที่จะรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ เช่น ถ้าเป็นขวดน้ำพลาสติก PET หากถูกนำไปทิ้งรวมกับแกลลอนน้ำมันเครื่องหรือพลาสติกอื่นๆ ก็ไม่สามารถที่จะรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อทำขวด PET หรือแกลลอนน้ำมันเครื่องได้ หรือแม้แต่เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเสื้อผ้าหรือหมวกจากเส้นใยของ PET ต่อก็ไม่ได้ จึงต้องเข้าใจว่าพลาสติกทุกประเภทแตกต่างกัน หรือเมื่อมีพลาสติกชีวภาพหรือ bioplastic ปนเปื้อนกับพลาสติกทั่วไป การรีไซเคิลก็จะมีปัญหา จึงพูดได้ว่าการรีไซเคิลพลาสติกที่ดีนั้น ต้องจำแนกประเภทให้ชัดเจน แม้ว่าจะเป็นพลาสติกที่มาจากฟอสซิลด้วยกันก็ตาม ยิ่งถ้าผสมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเข้าไปอีก ทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันคงจะเป็นการนำมาถมทำเป็นพื้นถนน

ทางเลือกหนึ่งในการตอบโจทย์ของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งก็คือ หาทางให้พลาสติกเหล่านี้สามารถสลายตัวได้เสมือนเปลือกผลไม้ เช่นเปลือกกล้วย ส้มหรือแม้กระทั่งทุเรียน ที่เมื่อทิ้งไว้แล้วจะสลายตัวไป จึงมีการพัฒนาพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพหรือ compostable plastic ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช เช่นแป้งมัน ข้าวโพดหรืออ้อย โดยพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพที่ใช้กันมากในปัจจุบันคือ PLA (Polylactic Acid) ซึ่งใช้กันแพร่หลายในการทำเป็นภาชนะต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติก สามารถขึ้นรูป รองรับของเหลว และทนกับความร้อนได้ระดับหนึ่ง เมื่อเป็นพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานจากสถาบันหลัก เช่น ISO ในระดับสากล ASTM ในอเมริกา EN ในยุโรป หรือ มอก. ในเมืองไทยที่ออกข้อกำหนดสำหรับพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพสามารถสลายตัวได้ในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ กำหนดให้พลาสติกดังกล่าวจะแตกเป็นส่วน (disintegration) ได้ใน 84 วัน และสลายตัวเป็นแร่ธาตุ (mineralization) และชีวมวล (biomass) ใน 180 วัน (ปุ๋ยหมัก) ทั้งนี้ การนำพลาสติกชีวภาพมาทำเป็นปุ๋ยหมักเป็นวิธีการจัดการที่เหมาะกว่าวิธีอื่นๆ เช่น การเผา หรือปล่อยทิ้งลงทะเล ซึ่งในระยะหลังก็เริ่มมีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในทะเลหรือ Marine Biodegradable แล้ว เช่น PHA (Polyhydroxyalkanoate)

แต่ยังมีการมองแย้งอีกมุมหนึ่งว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดส่ง การใช้งาน การรีไซเคิล และการกำจัดซาก (From Cradle to Grave) หรือ LCA ของพลาสติกชีวภาพอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ carbon footprint สูงกว่าพลาสติกจากฟอสซิล ซึ่งก็น่าจะต้องอธิบายให้เจาะจงว่า การกำจัดซากดังกล่าวนั้นเป็นการจัดการโดยวิธีใด เช่น ถ้านำไปฝังกลบในชั้นดินที่มีการย่อยสลายแบบไร้อากาศ (anaerobic digestion) ซึ่งหมายถึงการสลายขยะโดยแบคทีเรียในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน PLA น่าจะปล่อยก๊าซมีเทนที่สร้างภาวะเรือนกระจกที่สูงกว่า แต่ถ้าหากนำไปเผา พลาสติกที่ทำจากฟอสซิลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนการจัดการพลาสติกทุกประเภท หากนำไปรีไซเคิลเพื่อแปรรูปกลับมาใช้งานได้มากกว่าหนึ่งครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกจากฟอสซิลหรือชีวภาพ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีของพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก (compostable) แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว ควรมีการคัดแยกแล้วนำมาแปรรูปกลับมาใช้งานใหม่ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงไปใช้อุปกรณ์อื่นๆ ทดแทน เช่น แก้วน้ำแบบพกพา ปิ่นโต ถุงผ้า เป็นต้น และผู้บริโภคอย่างผม อย่างท่าน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการคัดแยกประเภทขยะก่อนนำไปทิ้ง

คงต้องบอกว่า พลาสติกชีวภาพนั้นออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับการสลายตัวเพื่อเป็นปุ๋ยต่อไป จึงควรใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เมื่อเราใช้พลาสติกอย่างชาญฉลาดและรักษ์โลก เราก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองด้านหรือ The best of both worlds ครับ