30 กรกฎาคม 2562
Synthetic Biology ศาสตร์ใหม่ที่จะเปลี่ยนโลก
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
เคยสังเกตไหมครับว่าเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานนั้น เกือบทั้งหมดเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) ไม่ว่าจะเป็น แพะ แกะ โค กระบือ ล้วนแล้วแต่มีหญ้าเป็นอาหาร เช่น หมูกินรำข้าว หรือไก่กินข้าวเปลือก เป็นต้น แม้ว่าเนื้อชั้นดีจากหลายๆ แห่งจะมาจากวัวที่เลี้ยงด้วยเบียร์ หรือไวน์ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นพืชหรือผลไม้ที่ผ่านการหมัก ส่วนเนื้อที่มาจากสัตว์ที่กินเนื้อ (Carnivore) ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงโต หรือหมาป่า ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก อาจจะเนื่องจากเนื้อสัตว์เหล่านั้นมีกลิ่นสาปจากการกินเนื้อสัตว์ด้วยกันเป็นอาหารก็เป็นได้ ปัจจุบันนี้ในบรรดาสัตว์กินพืชที่เรานำมาเป็นอาหาร จะมีกระบวนการเลี้ยงในลักษณะที่เป็นฟาร์ม เพื่อตอบโจทย์ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลจากการทำฟาร์มดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือเกิดก๊าซมีเทน (จากการเรอหรือผายลมของสัตว์) ที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก โดยก๊าซมีเทนส่งผลกระทบต่อภาวะเรือนกระจกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 80 เท่า เคยมีงานวิจัยงานหนึ่งกล่าวว่า 90% ของก๊าซมีเทนเกิดจากเมื่อวัวเรอ ซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนมากกว่าวัวผายลมถึงกว่า 20 เท่า ต้องบอกว่านักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศมีความคิดในการทำงานวิจัยที่สร้างสรรค์มากเลยครับ
ต่อมา นักวิทยาศาสตร์จึงมีความคิดว่า ในเมื่อเนื้อที่เราทานนั้น จริงๆ แล้วมีจุดเริ่มต้นจาก ผัก หญ้า (ที่เป็นอาหารของสัตว์) แล้วสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นใช้เวลาเป็นเดือน หรือเป็นปีเพื่อเติบใหญ่ ก่อนที่จะมาเป็นอาหารให้เราบริโภคได้ แล้วถ้าเราสามารถนำผักหญ้าต่างๆ เหล่านี้ มาผ่านกระบวนการทางชีวเคมี หรือ ชีวสังเคราะห์ (Synthetic Biology - SynBio) ให้เป็นเนื้อเพื่อให้รับประทานหรือบริโภคได้เลย ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้วงจรการเลี้ยงสัตว์สั้นลง จากเป็นเดือนเป็นปี มาเป็นแค่ไม่กี่วัน อีกทั้งไม่ต้องลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้ไม่มีก๊าซเรือนกระจกระหว่างการผลิต และท้ายสุดสามารถตอบโจทย์ทั้งคนที่รับประทานอาหารปกติอย่างเราๆ ท่านๆ หรือมังสวิรัติ หรือแม้กระทั่ง Vegan คือกลุ่มคนที่ไม่ทานอาหารที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของสัตว์เลย กล่าวคือไม่ทานไข่ ไม่ทานนม เป็นต้น ล่าสุดที่เป็นที่แพร่หลายก็คือ Impossible Food ซึ่งเป็น start up ที่ผลิตเนื้อจากรากต้นถั่วเหลือง (Soy leghemoglobin) แล้วทำให้เนื้อดังกล่าวมีรสชาติเหมือนเนื้อจากเนื้อวัวเลยทีเดียว และยังเพิ่มสีแดงให้คล้ายเลือดนิดๆ จากหัว beatroot เลยทำให้ impossible burger เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากมาย ลองหาซื้อทานกันดูนะครับ ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทที่พึ่งตั้งมาได้ไม่กี่ปี แต่มีมูลค่าตลาดกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 60,000 ล้านบาท
เราอาจจะเข้าใจว่า Synthetic Biology (ไม่รู้จะเรียกว่า ชีวสังเคราะห์ได้ไหม) เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีววิทยา แต่จริงๆ แล้ว เป็นการประสานความรู้ (cross-discipline) ระหว่าง biology กับ engineering หรือแม้กระทั่ง nanotechnology ก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง Synthetic Biology นับว่าเป็นศาสตร์ใหม่ที่ในทางหนึ่งอาจจะทำให้โลกใบนี้จะน่าอยู่ยิ่งขึ้นแต่อีกทางหนึ่งก็เป็นที่วิตกกันว่าจะเป็นการท้าทายธรรมชาติมากเกินไปหรือไม่ เพราะกระบวนการดัดแปลงโมเลกุลและหรือพันธุกรรม เพื่อให้โรคต่างๆ สามารถรักษาได้ง่ายขึ้น หรือเพื่อไม่ให้ยีนด้อยที่เป็นกรรมพันธุ์สืบต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้ แต่อย่างไรก็ตาม Synthetic Biology สาขาหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ กระบวนการผลิตอาหารหรือการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มาจากการดัดแปลงจุลินทรีย์หรือ microbes เพื่อทำหน้าที่ที่จะแปลงผักหญ้า หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ให้เป็นสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ สารบำรุงผิว อาหารเสริม ยารักษาโรค หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์สังเคราะห์อย่าง impossible food ซึ่งนอกจากจะทำจากพืชแล้ว ในบางเทคโนโลยีอาจจะใช้น้ำเสียหรือคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบได้อีกด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ ในประเทศไทยยังอาจจะติดขัดในส่วน
อย่างไรก็ดี ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาความสามารถทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น เราสามารถพัฒนาจากการสร้างบ้านหลังเล็กๆ เป็นการสร้างตึกสูงระฟ้าทั่วโลก และไม่หวาดหวั่นแม้ในพื้นที่นั้นจะมีแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงเท่าใดก็ได้ หรือด้วยเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรม เราสามารถพัฒนาจากเครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ มาเป็นโน้ตบุค จนปัจจุบันเป็น smart phone ซึ่ง SynBio ก็น่าจะเป็นศาสตร์ใหม่ที่ผสมผสานระหว่างความรู้ทางวิศวกรรมกับชีวภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในชีวิตของพวกเรา และเป็นศาสตร์ที่น่าจับตาดูทีเดียวในศตวรรษข้างหน้านี้