30 มิถุนายน 2562
เงินสกุลหลักของโลก - Libra?
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มิถุนายน 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
นักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลก อดัม สมิทธิ์ ได้กล่าวไว้ว่า การค้าหรือระบบเศรษฐกิจนั้นน่าจะเริ่มจากการที่ผู้มีสินค้าบางอย่างเหลือใช้ และต้องการแลกกับผู้ที่มีสินค้าที่ตัวเองต้องการ หรือที่เรียกว่า barter economy แต่ปัญหาที่พบบ่อยครั้งคือความต้องการเกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน หรือในสถานที่ห่างไกลกัน ทำให้คู่ค้าอาจจะไม่เจอกัน จึงต้องมีตัวกลางหรือก็คือ เงิน (money or currency) เพื่อเป็นตัวเชื่อมให้การค้าหรือเศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่ก็ยังไม่มีนักมนุษยวิทยาท่านใดบอกได้ว่าเงินสกุลแรกของโลกเกิดขึ้นมาเมื่อใด เท่าที่มีในประวัติศาสตร์นั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ที่ประเทศสเปนแผ่อำนาจไปทั่วโลกและทำให้ Spanish Dollar เป็นสกุลเงินที่สำคัญของโลก โดยอิงตามเงิน (Silver) และเป็นเงินสกุลหลักทั้งทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา และอนุทวีปไอบีเรีย กว่าสองศตวรรษ
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่19 เมื่อทองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเป็นตัวกลางของการซื้อขาย จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า gold standard ที่สกุลเงินต่างๆ ต้องมีทองคำสำรองเพื่อออกเป็นเงินตราได้ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเงิน Pound Sterling ของอังกฤษมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วงสั้นๆ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศที่ชนะสงครามได้จัดประชุมร่วมกันหลายครั้งและท้ายสุดในปี ค.ศ.1971 จึงเกิดสนธิสัญญา Bretton Wood ซี่งมีเงิน US Dollar เป็นสกุลหลักและเป็นสกุลเงินสำรองของชาติต่างๆ ในโลก Robert Gilpin ได้ศึกษาว่า กว่าครึ่งหนึ่งของการค้าโลกในต้นสหัสวรรษเป็นการทำรายการในสกุลเงิน US Dollar และกว่าสองในสามของเงินสำรองของประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นเงิน US Dollar เช่นกัน จึงน่าจะกล่าวได้ว่า US Dollar เป็นเงินสกุลหลักของโลกตลอดครึ่งศตวรรษนี้ก็ว่าได้
แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด และการที่เงินสกุลเดียวเป็นสกุลหลักของโลกย่อมมีความเสี่ยงอยู่ ประเทศในกลุ่มสหพันธ์ยุโรปก็ได้คลอดสกุลเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้ในกลุ่มสมาชิก เรียกว่า ยูโร ในปี 1999 และยูโรใช้เวลาไม่ถึง 20ปี ก็ขึ้นเป็นเงินสกุลหลักอีกสกุลหนึ่งของโลกโดย WTO ได้แจ้งว่าในปี 2016 สินค้าจำพวกพลังงาน อาหารและการบริการนั้น ซื้อขายในสกุล US Dollar : Euro ในอัตราร้อยละ 60 : 40 และแน่นอนทั้งเงินเยนของญี่ปุ่นและหยวนของจีนก็มีโอกาสที่จะเป็นเงินสกุลหลักเช่นกัน แต่ปัญหาหนึ่งของเงินสกุลเหล่านี้คือ ค่าเงินจะสัมพันธ์กับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ และในระยะสั้นก็จะแปรผันตามดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Quantitative Easing โดยการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง อันจะช่วยประคองเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐ ทำให้ภาพความเป็นเงินสกุลหลักและเป็นกลาง (neutrality) ด้อยไป และบางครั้ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสกุลเงินด้วยซ้ำ
ในปีเดียวกันนั้นเอง มีกลุ่มคนที่ใช้ชื่อ Satoshi Nakamoto ได้ออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Blockchain ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกบัญชี และการบันทึกบัญชีดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ทุกๆคน ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและสั่งจ่าย กล่าวคือในการชำระเงินนั้น สามารถส่งมอบกันได้โดยไม่ต้องมี central bank หรือธนาคารชาติ ซึ่งก็ทำให้ความสำคัญของหน่วยงานดังกล่าวหมดไป และ Satoshi มีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นเงินสกุลหลักของโลก จึงออกแบบ Blockchain ให้เป็น open source software เพื่อให้ทุกคนสามารถมาร่วมพัฒนาต่อยอดได้ อย่างไรก็ตาม สกุลเงินที่คนกลุ่มนี้ตั้งขึ้นคือ Bitcoin มีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าปริมาณเงินที่ใช้หมุนเวียนอย่างจำกัด (21 ล้านเหรียญ) และไม่มีสินทรัพย์รองรับ ทำให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็งกำไรมากกว่าที่จะเป็นเงินสกุลหลัก เนื่องจากเงินต่างๆ เหล่านี้มีการเข้ารหัสจากเทคโนโลยี Blockchain จึงทำให้บางทีเราก็เรียกว่า cryptocurrency ซึ่งยังมีอีกหลายสกุล เช่น Etherium เป็นต้น
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Mark Zuckerberg ได้ประกาศว่าจะออกสกุลเงินใหม่เรียกว่า Libra โดยจะเป็น cryptocurrency ที่ใช้ใน ecosystem ของ Facebook, Instagram, WhatsApp และมีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น Spotify, Visa, Master, lyft, Uber, PayPal เป็นต้น ต้องเข้าใจว่ามีผู้ใช้ Facebook กว่า 2,400 ล้านบัญชี (ข้อมูลสิ้นปี 2018) และเมื่อรวมกับรายได้ต่อปีของบริษัทกว่า 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นที่น่าจับตามองมาก ลองคิดดูง่ายๆว่า ถ้าทุกคนที่เปิดบัญชีร่วมใช้เงินสกุลดังกล่าว ก็หมายถึงมีประชากรเกือบเท่ากับประเทศอินเดียและจีนรวมกัน ขณะเดียวกันมูลค่า 55,000 ล้านเหรียญแม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เป็นมูลค่าที่ไม่น้อย และเมื่อร่วมกับหุ้นส่วนธุรกิจอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะเป็น super currency หรือสกุลเงินหลักของโลกได้ไม่ยาก และไม่จำเป็นต้องขึ้นกับรัฐบาลใดๆ อีกด้วย เราจึงเห็นทั้ง ธนาคารกลางยุโรปและหน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้ามาตรวจสอบอย่างน่าสนใจทีเดียว ถ้า Libra สามารถแจ้งเกิดได้จริง เราอาจจะเห็นความฝันของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Keynes หรือ Nakamoto ที่จะมีเงินสกุลหลักอิสระของโลกเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้