EN

30 มีนาคม 2562

การกลับมาของเครื่องบินเหนือเสียง

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มีนาคม 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านที่ชอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเคยได้ดูเรื่อง Sabrina หรือไม่ หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1954 นำแสดงโดย Audrey Hepburn และ Humphrey Bogart ซึ่งเป็นดาราที่สวยสง่าและโด่งดังมากในสมัยนั้น เข้ามาใกล้อีกหน่อยหนังเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างใหม่ในปี 1995 แสดงนำโดย Julia Ormond และ Harrison Ford อันนี้อาจจะใกล้ตัวกับท่านผู้อ่านมากขึ้น แต่ก็กว่ายี่สิบปีแล้ว เป็นหนังรักโรแมนติก ประมาณซินเดอเรลล่าสมัยใหม่ เมื่อมหาเศรษฐีกิจการขนาดใหญ่หลงรักลูกสาวคนขับรถ แต่นางเอกที่เป็น ลูกสาวคนขับรถแอบหลงรักน้องชายเพลย์บอยของเศรษฐี จะเรียกรักสามเส้าก็ได้ ในตอนท้ายนางเอกต้องการหนีความวุ่นวายเลยบินไปปารีส แต่พ่อมหาเศรษฐีหรือ ไลนัส ลาราบี้ (Linus Larrabee) คิดได้และตามไปขอคืนดีแบบแอบเซอร์ไพรส์ จึงถือโอกาสบินด้วยคอนคอร์ด ซึ่งเป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง และใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องบินจัมโบ้ที่ใช้เวลาประมาณแปดถึงเก้าชั่วโมง แล้วไปดักรอนางเอกที่อพาร์ตเมนต์ในกรุงปารีส ก่อนที่จบอย่าง Happy Ending ก็เป็นหนังสนุกน่ารักที่ได้รับเสนอเข้าชิงรางวัล Golden globe ทั้งสองครั้ง

เครื่องบินคอนคอร์ดน่าจะเป็นวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอากาศยานในทศวรรษ 70 เมื่อเครื่องบินสามารถบินได้ที่ความเร็ว 2.04 มัค หรือสองเท่าของความเร็วเสียง (เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน บินที่ความเร็วประมาณครึ่งหนึ่ง หรือต่ำกว่าความเร็วเสียงเล็กน้อย) แต่เนื่องจากการบินด้วยความเร็วสูงย่อมหมายถึงการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นด้วย (ให้นึกถึงรถสปอร์ตหรือเวลาเราขับรถด้วยความเร็วสูงมาก) ว่ากันว่าค่าตั๋วโดยสารระหว่างลอนดอนและนิวยอร์ก ถ้าบินด้วยเครื่องบินคอนคอร์ดจะสูงกว่าตั๋วปกติถึง 20-30 เท่าทีเดียว มิน่าถึงต้องมหาเศรษฐีอย่างในหนังถึงจะเอื้อมถึง ประเด็นถัดมาคือ เสียง หรือ sonic boom คือคลื่นเสียงที่เกิดจากวัสดุที่วิ่งในอากาศด้วยความเร็วเหนือเสียงและทำให้เกิดคลื่นเสียงที่ส่งเสียงดังและบางครั้งอาจจะกระทบสมรรถภาพในการฟังของเรา ทำให้เครื่องบินดังกล่าวจะบินเร็วกว่าเสียงเฉพาะช่วงบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก และบินด้วยความเร็วเพียงครึ่งหนึ่งเมื่ออยู่เหนือพื้นดิน ก็ทำให้กินน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก เพราะเครื่องยนต์ไม่สามารถทำงานที่จุดที่ได้ออกแบบไว้ อีกทั้งเครื่องบินดังกล่าวมีแค่สองสายการบินที่นำมาบินเป็นหลักคือ British Airways และ Air France แม้ว่าค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงทำให้สายการบินไม่ขาดทุน แต่ต้นทุนการบำรุงรักษาสูงมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์ 911ที่นิวยอร์คในปี 2001 ประกอบกับอุบัติเหตุเครื่องบินคอนคอร์ดตกในปีก่อนหน้า ทำให้ในปี 2003 เครื่องบินดังกล่าวได้ปลดระวางไป

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่าวัสดุที่เบาขึ้นและทนทานขึ้น และความเข้าใจในหลักการทางฟิสิกส์เพื่อบริหารจัดการเสียงที่เกิดจาก Sonic boom ทำให้มีการพัฒนาเครื่องบินเหนือเสียงอีกครั้งหนึ่งโดยเริ่มจากประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี turbo-charger ที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงความเร็วต่างๆ ที่กว้างขึ้น ซึ่งก็เหมือนรถแข่งที่ปัจจุบันมีขนาดเครื่องยนต์เล็กลงแต่วิ่งได้เร็วขึ้น และประหยัดขึ้น (เหมือนการแข่งขัน Formula one ที่เครื่องยนต์ลดลงจาก 6,000 ซีซี เป็นแค่ 2,400 ซีซี แต่แรงและเร็วกว่าเดิม) ทำให้สามารถตอบโจทย์ข้อแรกของเครื่องบินคอนคอร์ด เรื่องการบินที่บริโภคน้ำมันมากกว่าปกติและเยอะขึ้นอีกเมื่อบินต่ำกว่าความเร็วที่ออกแบบไว้ ขณะที่การจำลองสถานการณ์หรือ computer simulation และความเข้าใจทางด้าน aerodynamic ทำให้ทราบว่าปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดเสียง sonic boom กล่าวคือในเครื่องบินพาณิชย์คือ การออกแบบส่วนหัว ส่วนปีกและเครื่องยนต์ที่ติดอยู่ใต้ปีก ทำให้เกิดเสียงที่ไม่ต้องการ และเป็นต้นเหตุของเสียงดังกล่าว เครื่องรุ่นใหม่จึงออกแบบให้หัวเครื่องบางและยาวขึ้น (แบบรถไฟความเร็วสูง) และฝังเครื่องยนต์ไปยังในส่วนต่างๆ ของตัวถัง (air flame) โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดไม่ว่า เรื่อง การพิมพ์สามมิติ คาร์บอนไฟเบอร์ หรือ การเคลือบด้วยความร้อน เป็นต้น ทำให้ต้นเหตุของการเกิดเสียงลดลง ขณะเดียวกันก็เพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Mach cut-off คือเครื่องมือที่ตรวจความหนาแน่นของอากาศแล้วพยายามกระจายเสียงที่เกิดขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นสูง เพื่อให้มันสะท้อนกลับไปในชั้นบรรยากาศและไม่ตกลงสู่พื้นข้างล่าง เป็นต้น ซึ่งว่ากันว่าจะทำให้เสียงดังประมาณเรากระแทกปิดประตูรถเท่านั้น

ทางทีมตั้งเป้าว่ายี่สิบปีหลังการปลดระวางของคอนคอร์ด หรือในปี 2023 จะมีเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงมาบินในเชิงพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าความเร็วในการบินในช่วงต้นจะประมาณ 1.4 มัค และคาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็น 1.8 มัคในระยะอันใกล้ ซึ่งไม่เร็วเท่าเครื่องบินคอนคอร์ด แต่ก็เร็วกว่าเครื่องบินปัจจุบันประมาณ 50-100% หรือเราสามารถบินไปยุโรป อังกฤษได้ภายใน 6-8 ชั่วโมง จากที่ต้องบิน 12 ชั่วโมงในปัจจุบัน แม้ว่าในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจากเครื่องบินธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 14 ที่นั่ง แต่ก็คาดว่าในอีกไม่นานคงสามารถพัฒนาเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ เมื่อถึงเวลานั้น พวกเราคงไม่ต้องเป็นมหาเศรษฐีอย่างไลนัส ลาราบี้เพื่อที่จะบินด้วยความเร็วเหนือเสียง และโลกใบนี้คงจะเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นอีกทั้งประสิทธิผลหรือผลิตภาพของอุตสาหกรรมจะดีขึ้น และลดการบริโภคทรัพยากรครับ