28 กุมภาพันธ์ 2562
รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองกับธุรกิจค้าปลีก
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2562
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีบริษัทค้าปลีกขนาดยักษ์ในเมืองไทยลงทุนในธุรกิจ Ride hailing หรือการแชร์รถโดยสารเจ้าหนึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ขณะเดียวกัน Amazon ที่ไม่ใช่ร้านกาแฟแต่เป็นบริษัทค้าปลีกขนาดยักษ์ของโ+ลก (น่าจะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) ก็ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจรถขับเคลื่อนด้วยตนเองเช่นกัน โดยลงทุนในบริษัท Start up ชื่อ Aurora รวมกับผู้ลงทุนรายอื่นเป็นเงินกว่า 530 ล้านเหรียญสหรัฐ
เริ่มแรกเรามาทำความเข้าใจกับรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งในภาษาอังกฤษสามารถเรียกได้หลายแบบ แต่ที่นิยมคือ Autonomous Vehical; AV หรือ Self-driving car ซึ่งจะต่างจากรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ Electrical Vehical; EV แม้ว่าในอนาคตเมื่อรถส่วนใหญ่เป็น EV แล้วจะทำให้การพัฒนาของ AV สามารถต่อยอดได้ง่ายขึ้น แต่การที่รถจะสามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองนั้น รถเติมน้ำมันที่เราใช้อยู่ทั่วไปก็สามารถที่จะเป็นรถ AV ได้ และในโลกปัจจุบัน เราแบ่งความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตนเองของรถเป็น 5 ระดับ ซึ่งระดับ 1 จะเป็นระดับที่ต่ำสุด เช่น cruise control, lane assist เป็นต้น ขณะที่ระดับ 5 เป็นระดับสูงสุด ที่ไม่ต้องใช้คนขับเลย และยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่สามารถพัฒนาระบบถึงระดับ 5 ได้ ไม่ว่าจะเป็น Waymo ของ Google หรือผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นระดับ 3 หรือระดับ 4 ต้นๆ ซึ่งเป็นระดับที่ใช้เซ็นเซอร์อย่าง LiDAR; Light Detection and Ranging ที่ใช้แสงเป็นตัวช่วยในการวัดระยะ ประมาณการ เพื่อการขับเคลื่อน โดยในระดับ 3 หมายถึงรถสามารถขับเคลื่อนที่ความเร็ว 60 กม.ต่อชม. โดยไม่ต้องใช้คนขับเลย ขณะที่ระดับ 4 จะสามารถขับได้ด้วยตนเองได้มากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดเช่น แยกความแตกต่างระหว่างเมืองชั้นในหรือทางด่วนไม่ได้ เป็นต้น และยังต้องมีคนขับช่วยในการตัดสินใจที่สำคัญ
สำหรับธุรกิจค้าปลีก นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจจะใช้จ่ายบนรถโดยสารมากขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือ การส่งของถึงบ้าน วันนี้โดยเฉพาะรุ่นมิลเลนเนียมมักจะสั่งทางออนไลน์แล้วให้มาส่งถึงบ้านหรือที่ทำงานแล้วแต่กรณี ซึงการจัดส่งหรือ logistic น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ วันก่อนก็เห็น Alibaba ลงทุนในธุรกิจจัดส่งของโดยโดรน ซึ่งสามารถบินได้เป็นหลักหลายกิโลเมตรเป็นต้น วันนี้ ride hailing ต่างๆ นอกจากส่งคนแล้วก็เริ่มส่งอาหาร และคาดว่าจะมีการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคตามมาในไม่ช้า และที่จะพัฒนาต่อไปคือการส่งโดยไม่ต้องใช้คนขับ driverless car delivery ซึ่งนอกจากตอบโจทย์เรื่องการจ้างงานแล้วยังตอบโจทย์เรื่อง aging society อีกด้วย กล่าวคือ ผู้อาวุโสที่นอกจากไม่อยู่ในระบบแรงงานแล้วยังจะเป็นผู้บริโภคตามกลุ่มมิลเลนเนียมอีกด้วย เราจึงเห็นถึงเทรนด์การลงทุนเพื่ออนาคตของธุรกิจค้าปลีกในระยะนี้
เมื่อเราสังเกต จะเห็นว่าในอนาคตนี้นอกจากความตั้งใจที่จะสร้างสังคมให้น่าอยู่ผ่านกระบวนการดูแลโลกให้เขียวและยั่งยืนแล้ว อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดคือการร่วมมือร่วมใจ collaboration ของอุตสาหกรรมที่ช่วยกันทำงานร่วมกัน และการรวมตัวหรือ convergent ของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ