30 พฤศจิกายน 2561
คาร์บอนสีเขียว
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
โดยปกติทั่วไป ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ส่วนใหญ่จะมาจากถ่านหิน หรือบ่อยครั้งผลิตจากการใช้น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมีแหล่งที่มาจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันเป็นล้านๆ ปี หรือที่เราเรียกว่าฟอสซิลนั่นเอง เมื่อเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่เป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือไฟฟ้ากังหันลมมากขึ้น จึงเริ่มมีการจำแนกว่ากลุ่มไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้เป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเราน่าจะแยกการผลิตไฟฟ้าแบบนี้ออกจากแบบปกติในอดีต และเรียกไฟฟ้ากลุ่มใหม่นี้ว่า ‘อิเลคตรอนสีเขียว’ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไฟฟ้าในกลุ่มใหม่นี้มีคุณสมบัติเหมือนไฟฟ้าทั่วไป แต่เนื่องจากมีแหล่งจากพลังงานหมุนเวียน จึงเรียกใหม่เพื่อให้มีความรู้สึกว่ามันเป็นมิตรกับโลกใบนี้
ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตน้ำมัน จนกระทั่งถึงผลิตภัณฑ์ปลายทางไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ จนถึงรถยนต์ ล้วนต้องผ่านกระบวนการแปลงสภาพสารที่เรียกว่า ไฮโดรคาร์บอน กล่าวคือ จากแหล่งน้ำมันดิบ ผ่านกระบวนการกลั่นน้ำมันและกระบวนการปิโตรเคมี เพื่อให้ได้ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น คาร์บอน (carbon) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราใช้ และคาร์บอนตัวเดียวกันนี้ก็เป็นคาร์บอนตัวเดียวกันกับที่อยู่ในโฮโดรคาร์บอน และเป็นคาร์บอนตัวเดียวกันกับคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวปัญหาทำให้โลกเราร้อนขึ้นมา จากภาวะเรือนกระจกที่มันสร้างขึ้น
จึงมีความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการหาทางกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวโดยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการดักจับ (carbon capture technology) เพื่อเอามาฝังกลบแบบเดียวกับการฝังกลบขยะในดิน หรือนำมาปั่นไฟฟ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่พยายามนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกปล่อยออกไปในอากาศแล้วก่อตัวเป็นม่านกระจก แต่เทคโนโลยีปัจจุบันที่ยังต้องพึ่งกระบวนการปฏิกิริยาทางเคมีที่ต้องมีเงินลงทุนสูงและมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ทำให้การพัฒนายังคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ปัญหาคือการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์โลกไม่ได้หยุดรอ แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) โดยผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลังหรือน้ำมันปาล์มก็ตาม สิ่งที่น่าจะนำมาต่อยอดจากแค่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ คือ การนำพืชเศรษฐกิจมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ (bio plastic) ดังที่เคยได้มีโอกาสเล่าให้ฟังในครั้งก่อนๆ ทั้งนี้ พืชต่างๆเหล่านี้ มีโครงสร้างของน้ำตาล ซึ่งก็หมายถึงว่ามีโมเลกุลคาร์บอนฝังอยู่ เมื่อผ่านกระบวนการชีวภาพ (หรือหมัก บ่ม)โดยสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวดังที่อธิบายข้างต้น ก็จะสามารถแยกมันออกมา และผลิตเป็นสารตั้งต้นทางพลาสติกต่อไปได้อีกทางหนึ่ง
ล่าสุด มีแม้กระทั่งนำเอาชานอ้อย ฟางข้าว กิ่งไม้ หรือไม้สับ ที่ปัจจุบันเรานำมาผลิตไฟฟ้าผ่านโรงไฟฟ้าไบโอแมส มาต่อยอดทำน้ำตาลเจนสอง (second generation sugar) ซึ่งเมื่อเป็นน้ำตาล ก็มีคาร์บอนที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการต่อยอดเพื่อทำพลาสติกชีวภาพต่อไป จะเห็นว่านี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสร้าง ‘คาร์บอนสีเขียว’ ผ่านพืชหมุนเวียนที่เรามีอยู่โดยไม่ต้องใช้คาร์บอนสีดำจากแหล่งฟอสซิลที่เป็นปัญหาต่อโลกของเรา
เมื่อเราเริ่มผลิตไฟฟ้าผ่าน ’อิเลคตรอนสีเขียว’ ซึ่งนอกจากจะผลิตจากแสงอาทิตย์และกังหันลมแล้ว ไฟฟ้าจากฝายทดน้ำ (run off river) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal) ก็น่าจะรวมอยู่ด้วย และการบริโภคผลิตภัณฑ์จาก ‘คาร์บอนสีเขียว’ ไม่ว่าจะมาจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมารีไซเคิลหรือการแปลงสภาพต้นไม้หรือพืชพรรณผ่านกระบวนการชีวภาพ ก็จะทำให้โลกใบนี้อยู่บน’ระบบเศรษฐกิจสีเขียว’ และเราก็จะช่วยกันรักษาโลกที่เราเคยรื่นรมย์นี้ให้กับรุ่นหลานและเหลนของเราต่อไป