EN

31 ตุลาคม 2561

ถนนตัวต่อ

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน ตุลาคม 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ขยะจากพลาสติกยังคงเป็นปัญหาที่เป็นเพชรฆาตเงียบ จากการที่มีการสะสมมาอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างน่ากังวล ประเทศไทยเองก็อยู่ในอันดับต้นๆ โดยข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าคนไทยผลิตขยะโดยรวมกว่า 500 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นขยะพลาสติกจำนวนไม่น้อยทีเดียว

มาตรการลดปริมาณขยะนั้น ได้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในยุโรปเช่นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ เริ่มลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และในอนาคตจะมีการเก็บภาษีพิเศษสำหรับการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือระบบเศรษฐกิจเวียนวน (Circular Economy) ที่พยายามใช้พลาสติกจากพืชหรือไม่ก็นำขยะต่างๆ ดังกล่าวมาหมุนเวียนใช้ใหม่หรือรีไซเคิล แต่ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก ขยะจากครัวเรือนทั่วโลกมีปริมาณมากถึง 2,000 พันล้านตันในปี2559 ซึ่งในจำนวนนี้ มีเพียงร้อยละ 13 ที่ถูกนำมารีไซเคิล ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก

เมื่อพูดถึงขยะพลาสติกแล้ว ตัวเลขการนำขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิล ยิ่งน้อยลงไปอีก ว่ากันว่า เรารู้จักใช้พลาสติกในโลกนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 แต่จนถึงปัจจุบัน ขยะพลาสติกถูกนำมารีไซเคิลไม่ถึง 10% ถ้าเปรียบเทียบกับวัสดุอื่นๆ เช่นกระป๋องน้ำอัดลม หรือโลหะอื่นๆ ที่ถูกรีไซเคิล 2 ใน 3 ทั้งนี้ เนื่องจากพลาสติกมีความหลากหลายและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมาก เมื่อถูกกองรวมกันในขยะ ทำให้การแยกและนำมารีไซเคิลเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะ สี และสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิล ไม่เหมือนกระป๋องอลูมิเนียม หรือเหล็กที่สามารถหลอมและรีไซเคิลกลับได้ในสภาพเกือบเหมือนเดิมทุกประการ

ในปีหนึ่งๆ โลกเราต้องการบีทูเมนหรือที่เราคนไทยเรียกกันว่ายางมะตอย เพื่อมาทำถนนเป็นจำนวนไม่น้อย สถิติจากธนาคารโลกนั้นในแต่ละปีพบว่าโลกมีความต้องการใช้มากกว่า 120 ล้านตัน ซึ่งจะถูกนำมาเพื่อทั้งทำถนนใหม่และซ่อมถนนเดิม ขณะเดียวกัน โลกก็มีขยะพลาสติกกว่า 360 ล้านตันที่ต้องการรีไซเคิลหรือกำจัด สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสองแหล่งที่มาจากน้ำมันดิบเช่นกัน และมีสถานนะเป็นโพลีเมอร์เหมือนกัน จึงน่าจะทำหน้าที่แทนกันได้ ซึ่งเราก็เริ่มเห็นว่า ไม่ว่าในอินเดีย ออสเตรเลียหรืออิสราเอล ที่เริ่มนำเอาขยะพลาสติกมาทำถนน จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าเอาฝังกลบเฉยๆ หรือทิ้งลงทะเลให้เป็นอาหารของสัตว์ในทะเล อีกทั้งการทำเป็นถนน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องแหล่งที่มาของขยะพลาสติกว่า เป็นพลาสติกประเภทไหน มีลักษณะสีอย่างไร หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขอนามัยที่เกี่ยวข้อง จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีมากทางหนึ่ง แม้ว่าเมื่อมองถึงการเพิ่มมูลค่านั้น อาจจะไม่ได้สูงมาก

ที่สำคัญคือ พลาสติกบางประเภทที่มีคุณสมบัติยากต่อการรีไซเคิล เพื่อกลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนจะสูงกว่ากระบวนการผลิตพลาสติกแบบทั่วไป (virgin feed) ฉะนั้น การนำมาทำเป็นถนน ก็จะทำให้มีข้อจำกัดน้อยลง นอกจากนั้น เรายังอาจจะออกแบบให้มีความคงทนมากกว่ายางมะตอยก็ได้ อย่างเช่นในในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ ได้ใช้ถนนรีไซเคิลพลาสติกเคลือบผิวถนนในพื้นที่ที่มีรถบรรทุกหนัก ผลคือสามารถใช้งานได้นานขึ้น 4 เท่า ทำให้ทางหลวงประหยัดค่าบำรุงรักษาไปได้มากเลยทีเดียว แม้แต่ในประเทศไทยก็มีการริเริ่มทำถนนจากขยะพลาสติกเพื่อเป็นการต่อยอดของเศรษฐกิจเวียนวนในจังหวัดระยอง ซึ่งก็มีผลคล้ายกับที่ได้นำเสนอมาในข้างต้น

จากการที่นำขยะพลาสติกมาทำถนนหรือเคลือบผิวถนน วันนี้ก็เริ่มมีการคิดต่อยอด โดยเริ่มมีสตาร์ทอัพในประเทศยุโรปที่คิดต่อว่า ในเมื่อเราสามารถนำเอาขยะพลาสติกมาทำถนนแล้ว ทำไมไม่ทำเป็นชิ้นๆ เหมือนตัวต่อเลโก้ของเด็ก โดยออกแบบ เริ่มจากการทดสอบความแข็ง ความเหนียว และความทนทานก่อน หลังจากนั้นทำตรงกลางให้กลวง เพื่อที่จะได้สอดใส่ท่อระบายน้ำ หรือท่อร้อยสายไฟได้ แล้วตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อสามารถไปประกอบหน้างานก่อสร้างได้ (ให้นึกถึงผนังบ้านสำเร็จรูปที่ใช้ทำบ้านประกอบเสร็จในบ้านเรา แต่แทนที่จะเป็นซีเมนต์ กลับกลายเป็นพลาสติกรีไซเคิล) ซึ่งเมื่อเป็นชิ้นๆ นำไปต่อ ก็จะลดเวลาก่อสร้างลง ว่ากันว่าอาจจะใช้เวลาสร้างถนนหรือฟุตบาทแค่ครึ่งหนึ่งของเวลาปกติ และเมื่อถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือฟุตบาททรุด วิธีการซ่อมบำรุงก็สามารถทำได้โดยนำมาเปลี่ยนเป็นชิ้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องปิดถนนซ่อมแล้วรอเวลาแข็งตัวของซีเมนต์หรือยางมะตอย และด้วยที่เป็นตัวต่อก็ยังสามารถที่จะฝังชิปหรือเซ็นเซอร์ เพื่อเก็บข้อมูล เรื่องของปริมาณจราจร หรือน้ำหนักบรรทุก (ทำให้เราคุมน้ำหนักรถบรรทุกได้แบบเรียลไทม์) หรือเป็นที่ติดสัญญาณ 5G อันทำให้การสื่อสารระหว่างพาหนะเป็นไปได้แม่นยำขึ้น หรือแม้กระทั่งฝังสายไฟเพื่อให้เป็นการชาร์จรถ BEV (Battery Electric Vehicles) เหมือนสนามแข่งรถยนต์บังคับก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะทำให้ถนนหรือทางเดินของเราเป็น smart road/smart path ต่อไป

จากที่หาทางกำจัดขยะพลาสติก มาเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ อย่าง บูรณาการของสังคมเมืองสีเขียว (Green Economy) จึงเป็นความคิดที่น่าสนับสนุนยิ่ง และหากสามารถนำมาใช้จริง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีจราจรหนาแน่น ก็จะทำให้เรามีสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น และยังสามารถสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย