30 สิงหาคม 2561
เซอร์กิตเบรคเกอร์ จากอุปกรณ์ตัดไฟสู่บ้านอัจฉริยะ
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน สิงหาคม 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
เรื่องโครงการประหยัดพลังงานของโรงงานและอาคารสำนักงานเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จมานานพอสมควร อย่างกรณีของโรงงานที่มีมอเตอร์เยอะ ก็จะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่บิดเบี้ยว จึงมีการปรับปรุงการใช้ไฟด้วยคาปาซิเตอร์ ทำให้ประหยัดค่าไฟในบางกรณีได้ถึงร้อยละ 30 เป็นความรู้ที่เรามีมานานแล้ว หรืออาคารสำนักงานที่มีการเปิดแอร์ ก็มีการรณรงค์เปิดที่ 25-27 องศาเพื่อประหยัดไฟ หรือการปิดไฟตอนพักเที่ยง จนกระทั่งถึงการที่มี สมาร์ทออฟฟิศ คือไม่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว แต่ใช้เป็นโต๊ะที่แชร์กัน กล่าวคือใครเข้าออฟฟิศ ก็ใช้โต๊ะตัวที่ว่าง เคยมีการศึกษาพบว่า occupancy ของโต๊ะทำงานในออฟฟิศทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 25-30 หมายความว่าโต๊ะทำงานสี่ตัว มีคนนั่งทำงานปกติในเวลางานเพียงหนึ่งตัว ก็เป็นความฟุ่มเฟื่อยที่แอบแฝงอยู่ การใช้สมาร์ทออฟฟิศ จะช่วยลดทั้งเงินลงทุนตั้งต้น และค่าใช้จ่ายเป็นต้น
การประหยัดไฟฟ้าในโรงงานและอาคารสำนักงานที่มีขนาดใหญ่และมีผลต่อผลประกอบการของบริษัท จึงได้รับความใส่ใจและประสบความสำเร็จมาตามลำดับ แต่ในการบริโภคไฟฟ้านั้น นอกจากในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์แล้ว การบริโภคในครัวเรือนก็เป็นรายใหญ่รายหนึ่ง ประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย จึงมีการรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานในทุกภาคส่วนในการนี้ ภาคเอกชนก็ได้พยายามที่จะมาต่อยอด โดยคาดว่าถ้าสามารถลดค่าไฟ้ฟ้าให้กับครัวเรือนได้ ย่อมหมายถึงมีเงินเหลือเก็บ เหลือใช้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ประเทศเราประสบความสำเร็จอย่างดี คือการผลักดันให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งในสองทศวรรษที่ผ่านมา เห็นผลอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามบริษัทใหญ่ๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่อยู่ในโลกใหม่อย่าง google หรือในโลกเก่าอย่าง จีอี หรือซีเมนต์ล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะต่อยอดและพัฒนาบ้านอัจฉริยะผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ smart thermostats ที่ไว้วัดอุณหภูมิของห้องและจะเตรียมห้องให้อยู่ในอุณหภูมิเหมาะสม เพื่อให้เราอยู่ได้สบาย โดยอาจจะเปิดแอร์ก่อนเราเข้าบ้านสักครึ่งชั่วโมง และลดความเย็นลงเมื่อห้องเย็นแล้วเป็นต้น หรือ Nest ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบโดยบริษัทลูกของ google ที่ทำหน้าที่ได้มากกว่านั้น คือจะคำนวณการใช้ไฟควบกับต้นทุนค่าไฟ เช่น อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศให้ห้องเย็น(หรือห้องอุ่น ในประเทศที่อากาศหนาว) ในช่วงที่ค่าไฟถูกหรือออฟพีกโดยไม่ต้องรอเรากลับ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าเพิ่มได้อีก
ในอดีต เพื่อป้องกันไฟไหม้บ้านจากไฟฟ้าลัดวงจร เราได้ออกแบบฟิวส์เพื่อเป็นอุปกรณ์ตัดไฟ เมื่อมีความร้อนจากกระแสไฟที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและใช้งานให้ง่ายเข้า จึงมีอุปกรณ์ใหม่ที่เรียกว่า เซอร์กิต เบรคเกอร์ หรือเรียกสั้นๆว่าเบรคเกอร์ ที่ทำงานได้เร็วกว่าฟิวส์ และไม่ต้องเปลี่ยนใหม่เมื่อเกิดการลัดวงจร แค่กดปุ่ม รีเซทก็พอ สิ่งที่เรามองข้ามไปคือในกล่องควบคุมไฟ (control panel)นี้ จริงๆสามารถล่วงรู้ถึงการวิ่งของอิเลคตรอนทุกตัวว่าไปที่หลอดไฟหลอดไหน เตารีด ตู้เย็น หรือทีวี และวิ่งไปเป็นปริมาณเท่าใด เป็นเวลานานเท่าไหร่ และในช่วงใดของวัน ถ้าเราใส่สมองเล็กๆหรือ ไอซีเล็กๆเข้าไปในตู้ไฟ มันจะรวบรวมข้อมูลแล้ววินิจฉัย จากนั้นจะสามารถทำงานให้เป็นแผงไฟอัจฉริยะหรือแม้แต่บ้านอัจฉริยะ
นอกจากที่ว่ามาจากข้างบนแล้ว เริ่มมีการพัฒนาให้เป็นดิจิตอล เบรคเกอร์ ก็จะเป็นเบรคเกอร์ที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์ อันจะทำการตัดไฟได้เร็วขึ้นอีก ไม่ส่งสัญญาณแม่เหล็กรบกวนวงจรไอซี และยังสามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องต่ออุปกรณ์เพิ่ม การทำงานนอกจากจะวัด ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้แล้ว ยังสามารถเป็นศูนย์กลางการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในบ้าน (น่าจะดีกว่า IoT หรือ 5G เนื่องจากวิ่งบนสายไฟที่มีอยู่เดิมแล้ว) รวมถึงการเฝ้าระวังวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์เราทำงานหนักไปหรือไม่ เช่นตู้เย็นแช่ของไว้เยอะและคอมเพรสเซอร์อาจทำงานหนักไป หรือคอมเพรสเซอร์ใกล้หมดอายุ ต้องซ่อมแล้วเป็นต้น
จากอุปกรณ์ในตู้ที่ไม่มีใครเห็นและสนใจมากมาสู่กุญแจสำคัญของบ้านอัจฉริยะ จินตนาการของคนเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้โลกเราน่าอยู่มากขึ้น และหวังว่าอุปกรณ์ดังกล่าวคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและผู้มีอำนาจในการอนุมัติได้ดีในอนาคตอันใกล้นี้