EN

30 มีนาคม 2561

พลาสติก สะดวก ประหยัด ตายยาก

คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน มีนาคม 2561
โดย คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

ในวันที่ 22 เมษายนที่จะถึงนี้เป็นวัน Earth Day ผมเลยขอคุยกับสิ่งที่ใกล้ตัวเนื่องในโอกาสที่จะทำให้โลกใบนี้ของเราน่าอยู่ น่าอาศัยสำหรับลูกหลานของเราต่อไป

เมื่อเดือนก่อนระหว่างเดินทางไปยุโรปได้เปิดดูหนังเรื่อง The Graduate ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1967 จัดว่าเป็นหนังที่แรงมากในสมัยนั้น ได้รับรางวัล Oscar สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย (เข้าบรรยากาศงาน Oscar ในเดือนนี้) จำได้ว่า ตอน Dustin Hoffman พระเอกของเรื่องจบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เคล็ดลับที่คุณลุงของเขาให้ไว้ คือ ให้ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับ ‘พลาสติก’ จะมีชีวิตรุ่งโรจน์ชัชวาลแน่นอน

ในปี 2017 ที่ภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ และรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะมาแทนที่รถเติมน้ำมันในระยะอันใกล้ ล่าสุดที่ปรึกษาธุรกิจในระดับโลก ต่างให้ความเห็นว่า โรงกลั่นต่างๆ ควรพิจารณาขยายและเปลี่ยนกำลังการผลิตจากน้ำมันสำเร็จรูปเป็นปิโตรเคมี หรือธุรกิจ ‘พลาสติก’ นั่นเอง ผ่านไป 50 ปี ก็ยังเป็นธุรกิจดาวรุ่งต่อไป จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจจริงๆ

“พลาสติก” หลักๆ ผลิตมาจากน้ำมัน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ขวดน้ำ ท่อประปา สายไฟ เสื้อผ้า เก้าอี้ โซฟา รวมไปถึงลิ้นหัวใจเทียม หรืออวัยวะสำรองต่างๆ พลาสติกจึงเป็นอะไรที่มีประโยชน์และสามารถต่อยอดได้อีกมาก คาดกันว่าในอนาคต รถทั้งคันหรือเครื่องบินทั้งลำ อาจจะทำจากพลาสติก

ในขณะเดียวกัน ขยะที่เกิดจากพลาสติกก็มีมากอย่างคาดไม่ถึง มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนถึงปัจจุบัน น่าจะมีขยะพลาสติกสะสมอยู่ประมาณ 6,500 ล้านตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนักคนทั้งโลก (ประมาณ 7,000 ล้านคน) รวมกัน 10 เท่า ในจำนวนนี้ 20% ถูกรีไซเคิลหรือเผาไป จำนวนที่เหลือ ไม่ถูกฝังกลบก็ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งต้องใช้เวลา 500 ปีกว่าจะย่อยสลาย ในแต่ละปีมีพลาสติกกว่า 10 ล้านตันถูกทิ้งลงไปในทะเล และคาดกันว่าในปี 2050 ขยะพลาสติกในทะเลจะหนักกว่าน้ำหนักของปลาที่ว่ายอยู่ในทะเลทั้งหมดรวมกัน!

ถุงพลาสติก เมื่อโดนน้ำทะเลและแสงแดด จะถูกกัดกร่อนเป็นเม็ดพลาสติกเล็กๆ ที่เรียกว่า Microplastic หรืออนุภาคพลาสติก ซึ่งย่อยสลายไม่ได้ นอกจากนี้ ในทะเลยังมีเม็ดบีทสครับของโฟมล้างหน้าที่เราใช้และทิ้งน้ำลงสู่ทะเล เมื่อรวมกัน คาดว่าในทะเลมีเม็ดต่างๆ เหล่านี้กว่า 50 ล้านล้านเม็ด ซึ่งบางส่วนก็ถูกปลากินเข้าไป จากนั้นเราก็กินปลา ซึ่งเป็น Clean Food ท้ายสุดเม็ดบีทที่เราใช้ล้างหน้าก็กลับมาอยู่ในตัวเราแทน

ล่าสุดมีอีกประเด็นที่น่ากังวล คือ จากผลการศึกษาของ Orb Media พบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกบางยี่ห้อก็มีอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กปนในน้ำดื่มด้วย คาดว่าน่าจะเกิดการปนเปื้อนระหว่างการบรรจุน้ำดื่มลงในขวด

มีการประเมินกันว่าเราใช้ขวดพลาสติกกว่า 110,000 ล้านขวดต่อปี ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของอุตสาหกรรมพลาสติก บริษัทผู้ผลิตสินค้าบริโภครายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น โค้ก แมคโดนัล พีแอนด์จี ตอนนี้ต่างก็ปวารณาที่จะ Recycle บรรจุภัณฑ์ให้ครบ 100% ในปี 2030 หรือบ้างก็จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Plant Plastic หรือพลาสติกที่มีส่วนผสมของพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง เป็นต้น เหมือนกับที่เราเติมเอทานอลที่ผลิตจากพืชในน้ำมันเพื่อเป็นแก๊สโซฮอล์ อันเป็นการลดการบริโภคพลาสติกจากฟอสซิล

ขยะพลาสติกในปัจจุบันอาจจะไม่เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับ Climate Change แต่เป็นปัญหาที่สะสม และจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้ การใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ หรือ Biodegradable Plastic จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ เพื่อขยะดังกล่าวจะไม่กลับมาทำร้ายตัวเราเอง ดังนั้นพวกเราควรช่วยกันลดการบริโภคพลาสติก ด้วยการ Reduce Re-use และ Recycle เช่น ใช้ถุงผ้า แก้วน้ำ ชามกระดาษ เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำและทรัพยากรในท้องทะเลให้อยู่คู่กับโลกใบนี้ไปอีกนาน