28 กุมภาพันธ์ 2564
ต้นทุนของการรักษ์โลก
คอลัมน์ Everlasting Economy จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2564
โดย
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) วาณิชธนากรรายใหญ่ของโลกได้ออกงานวิจัยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่าตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงจากภาวะโควิด-19 แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกก็มีการเข้าสู่ภาวะกระทิงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคนรวยหุ้นขึ้น 1.86 แสนล้านบาทต่อชั่วโมง เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมากนะครับ ยิ่งถ้าเราเจาะลึกลงไป จะเห็นว่าราคาหุ้นของธุรกิจสีเขียวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นของ Tesla ที่ราคาสูงขึ้นกว่า 750% ในปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าตลาดประมาณ 8 แสนล้านเหรียญ มากกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เกือบทุกรายรวมกัน หรือ Lucid ที่จะก้าวมาเป็นคู่แข่งของเทสลา สามารถระดมทุนผ่าน SPACs (เครื่องมือทางการเงินที่ได้เล่าให้ฟังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4หมื่นล้านเหรียญ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ผลิตรถสักคัน
เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าธุรกิจสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ พลังงานไฮโดรเจน biotech หรือแม้กระทั่ง green bond ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และล้วนมีราคาที่สูงจนนักวิเคราะห์ต้องหาวิธีการประเมินมูลค่าแบบใหม่ๆ มาอธิบาย ซึ่งก็เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญพูดว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ของตลาดหุ้น (หรืออาจจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราชนะ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า helicopter money แบบอเมริกันสไตล์ก็ได้ โดยการแจกเงินผ่านการกำไรจากการลงทุนในหุ้น ซึ่งประชากรอเมริกันส่วนใหญ่มีพอร์ตลงทุนอยู่) แต่บ้างก็ว่านักลงทุนในตลาดหุ้นที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้นำที่มองไปในอนาคต ได้ให้ความสำคัญเรื่อง climate change โดยใช้กลไกตลาดทุนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านโดยกลไกตลาดทุนเป็นวิธีที่ดี และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลมาก แต่ขณะเดียวกัน กระบวนการสำคัญที่จัดการกับธุรกิจดั้งเดิมที่ยังปล่อยคาร์บอนยังเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและกำหนดกลไกต่างๆ เพื่อกำจัดสิ่งที่เรียกว่า externality ทางเศรษฐกิจ (อาจจะพูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ) ตัวอย่างง่ายๆ ก็คงจะเป็นกรณีของรถสิบล้อบรรทุกน้ำหนักเกิน ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนการขนส่งสินค้าเราต่ำและแข่งขันได้ แต่เกิดถนนพังแล้วต้องใช้งบประมาณกลางเพื่อซ่อมบำรุงก่อนกำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในต้นทุนขนส่ง แต่เป็นภาระภาษีที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายแทน เพราะถ้ารถบรรทุกเหล่านั้นต้องรับผิดชอบกับความเสียหายเองอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ ก็เป็นได้
อุตสาหกรรมหนักจำนวนมากนั้นมีรอยเท้าคาร์บอน หรือ carbon footprint ที่สูงมาก และความที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้น ยังมีผลประกอบการที่ดีและสามารถจ่ายปันผลกับผู้ถือหุ้นได้ ในปี 2017 World Bank ได้ให้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz และ Nicolas Stern ศึกษาราคาคาร์บอนที่เหมาะสมที่จะทำให้ความตกลงปารีส Paris Accord 2 °C สามารถบรรลุผลได้ และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านได้ศึกษาโดยใช้แบบจำลองเศรษฐศาสตร์หลายๆ แบบแล้วสรุปว่า ราคาคาร์บอนที่เหมาะสมคือประมาณ 100 เหรียญต่อตันในปี 2030 ซึ่งราคาดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 2-3 เท่าของราคาที่ซื้อขายกันในยุโรป หรือกว่าร้อยเท่าของราคาที่ซื้อขายในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษา 29 บริษัทใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 965 ล้านตันในปี 2019 ว่าถ้าต้องจ่ายค่าปล่อยคาร์บอนที่ราคา 100 เหรียญต่อตัน หมายถึง EBITDA ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวจะหายไป 9.65 หมื่นล้านเหรียญต่อปี ก็จะทำให้จากที่กำไรอยู่จะกลายเป็นขาดทุนได้ โดยการศึกษาพบอีกว่ามูลค่าตลาดของหุ้น 1,000 บริษัทแรกของโลกจะหายไปประมาณ 2.1 ล้านล้านเหรียญ (เป็นตัวเลขก่อนฟองสบู่ข้างบน)
การที่ราคาหุ้นในธุรกิจสีเขียวขึ้นสูงจนใกล้เป็นฟองสบู่ และเกินเลยมูลค่าพื้นฐาน นั้นอาจจะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไม่ยั่งยืนและอาจจะทำให้เกิดการช็อคของระบบ ทำให้คนหมดความเชื่อมั่นถึงการเปลี่ยนผ่าน กระบวนการซื้อขายคาร์บอน ผ่านกลไกตลาดทุนจึงน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่า โดยเป็นการที่เรียกง่ายๆว่า ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย กล่าวคือถ้าบริษัทปล่อยคาร์บอนเยอะ ก็ต้องซื้อ certificate เยอะ ซึ่งเงินดังกล่าวก็จะทำให้การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น และเป็นการเร่งให้ภาคเอกชนเร่งการลงทุนโดยไม่ต้องพึ่งเงินอุดหนุน subsidy จากภาครัฐ จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน และจะช่วยเร่งฟื้นฟูโลกของเราได้ครับ