28 มกราคม 2565
เงินเฟ้อสีเขียว : Green Inflation
คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน มกราคม 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและ Net Zero ที่เป็นประเด็นพูดคุยในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่าง ที่เห็นได้ชัดก็คือเราได้มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกคนใหม่คือ Elon Musk ที่ราคาหุ้นโตมากกว่า 3 เท่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจนมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอยู่พักใหญ่ หรือการที่ราคาหุ้นของ CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกจากประเทศจีนที่มีราคาสูงขึ้นร่วม 70% ในปี 2021 ที่ผ่านมา แม้กระทั่งราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเองก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหรือเป็นเท่าตัวเช่นกัน
การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวน่าจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร ว่ากันว่ากว่าโลกจะเข้าสู่ Net Zero ได้ในปี 2050 นั้น ทุก ๆ ประเทศอาจจะต้องลงทุนรวมกันปีละ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งกลไกในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจึงมีความสำคัญไม่น้อย นอกจากที่เราเห็นการใช้รถ EV แล้ว การเพิ่มประะสิทธิภาพของอุปกรณ์ เครื่องจักรกล อาคารก็อาจจะจัดว่าเป็นการลงทุนสีเขียวได้ เช่น การติดฉนวนในอาคาร (อาคารในยุโรปส่วนใหญ่มีอายุเป็น 100 ปี ซึ่งในสมัยนั้น เทคโนโลยีอาคารยังไม่มีเรื่องของฉนวนความร้อน เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวผู้อยู่อาศัยก็ต้องเปิด heater เต็มที่เพื่อให้อุ่น หรือในทางตรงข้าม สำหรับประเทศในเขตร้อนอย่างบ้านเรา ที่ต้องใช้แอร์อย่างเปลืองเพื่อให้เย็น) หรือการบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ (anaerobic digestion) ก็ล้วนแต่เป็นการช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น
เพื่อไม่ให้เกิดการแอบอ้าง หรือ Green Wash กล่าวคือ อ้างว่าได้มาตรฐานสีเขียวเพื่อการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ ทาง EU เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงได้จัดหมวดหมู่ หรือ Taxonomy เพื่อเป็นคู่มือและแนวทางให้ธุรกิจได้พิจารณาเปรียบเทียบว่าการลงทุนต่าง ๆ นั้นเข้าข่ายที่จะสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยคู่มือดังกล่าวจะเป็นไบเบิลสำหรับการเงินการธนาคาร เช่น จะใช้วัดว่าธนาคารมีการปล่อยกู้ในธุรกิจสีเขียวมากน้อยอย่างไร และสำหรับผู้บริหารกองทุนเพื่อการลงทุนที่ต้องพิจารณาถึงหุ้นหรือหุ้นกู้ในพอร์ตนั้น เป็นของบริษัทที่มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจน ในการวัดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นระบบ
ที่น่าสนใจคือใน Taxonomy ดังกล่าวนั้นได้นิยามไว้ว่า พลังงานนิวเคลียร์ที่มีการจัดการกากนิวเคลียร์ได้มาตรฐานความปลอดภัยนั้นถือว่าเป็นพลังงานสีเขียวและโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ในช่วงระยะสั้นหรือระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนั้นก็ถือว่าเป็นพลังงานสีเขียวเช่นกัน เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้ว ใน 10 ปีข้างหน้า ถ้าโลกต้องหยุดปั่นไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลภาวะหรือที่เรียกว่า dirty fuel source นั้น ก๊าซธรรมชาติจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ จึงถือว่าเป็นแหล่งฟอสซิลสีเขียวชั่วคราว ประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของพลังงานไปยัง Green Hydrogen ที่เป็นคำตอบสุดท้ายได้อย่างราบรื่น
ซึ่งการที่ EU ยอมผ่อนปรนคำนิยามดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด เพราะว่าในรอบ 5-7 ปีที่ผ่านมาการลงทุนต้นน้ำของการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาก ทั้งนี้เหตุผลหลัก นอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในส่วนของพลังงานสีเขียวแล้ว ราคาน้ำมันดิบเองก็ตกต่ำอย่างมากและยาวนานถึง 7 ปี (ดังที่เห็นว่าราคาน้ำมัน WTI ที่ส่งมอบในเดือนมีนาคม 2019 นั้นถึงกับติดลบที่ -20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) เกิดการลดการลงทุนในธุรกิจอย่างมาก ส่งผลให้อุปทานของก๊าซธรรมชาติและน้ำมันโลกเกิดการตึงตัว เมื่อเศรษฐกิจโลกเราเริ่มฟื้นจากภาวะโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และความที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งเชื้อเพลิงพื้นฐานที่จะส่งผลลูกโซ่ในห่วงโซ่อุปทาน จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นตามลำดับจนสูงเป็นเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ประเทศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออันเนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียวและลดการลงทุนในพลังงานดั้งเดิมนั้น ทาง Isabel Schnabel ผู้บริหารระดับสูงของ European Central Bank จึงเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า Green Inflation หรือเงินเฟ้อจากนโยบายสีเขียวนั่นเอง
ผมในฐานะที่อยู่ในวงการพลังงานเอง มองว่า Green Inflation ยังน่าจะเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งหรือ Tip of the Iceberg คือภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำนั้นใหญ่กว่าที่เราเห็น ปัญหานั้นคือความมั่นคงทางพลังงานหรือ Energy Security ที่ถ้าเมื่ออุปทานไม่สามารถตอบโจทย์ของอุปสงค์แล้ว เราอาจจะเห็นไฟดับเป็นวง ๆ ก็เป็นไปได้ ดังที่ Harold Hamm ผู้คร่ำหวอดในวงการน้ำมันจาก Omaha สหรัฐอเมริกาได้พูดไว้ว่า ถ้าเราใช้ EQ ในการตัดสินอนาคตของพลังงาน โดยลืมคำนึงถึง IQ แล้ว โลกอาจจะเผชิญกับการตัดสินใจผิดพลาดอย่างมหันต์
การเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าว จึงต้องพิจารณาถึงการอยู่กับเทคโนโลยีปัจจุบันอย่างชาญฉลาด ซึ่งหมายถึงทั้งการลงทุนในแหล่งพลังงานดั้งเดิมควบกับการลงทุนด้าน carbon offset กล่าวคือ การเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เช่นแสงอาทิตย์ ลม มาชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ carbon removal คือการกำจัดก๊าซเรือนกระจกโดยกระบวนการปลูกป่าหรือดักจับและกักเก็บ โดยใช้ทั้ง 2 ระบบผ่านกลไกกระบวนการซื้อขายคาร์บอนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและการมีนโยบายทางสายกลาง มีความหลากหลายของแหล่งเชื้อเพลิงน่าจะมีความสำคัญมากมาย