25 กุมภาพันธ์ 2565
สาหร่ายกู้โลก
คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อ 15 ปีก่อนหรือในปี ค.ศ. 2008 ราคาน้ำมันได้วิ่งขึ้นไปสูงถึง 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีการคาดการณ์กันในตอนนั้นว่าอาจจะวิ่งไปถึง 200 เหรียญอย่างที่เราทราบกัน คนในวงการพลังงานก็มองถึงความยั่งยืนทางพลังงาน และมีการผลักดันพลังงานทางเลือกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากเอทานอล จากแป้งมันโมลาสแล้ว ก็มีการทำไบโอดีเซลจากปาล์ม หรือพืชทางเลือกอีกมากมาย หนึ่งในโครงการที่บางจากฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อศึกษาต่อยอดคือ การสกัดน้ำมันดีเซลจากสาหร่าย (Algae) ซึ่งแม้ว่าจะได้ผลดี แต่ต้นทุนในการผลิตนั้นสูงมาก และราคาน้ำมันดิบต้องสูงกว่า 220-250 เหรียญจึงจะทำให้แข่งขันได้
แต่ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนั้น คือ เราพบกระบวนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายบางพันธุ์ที่เติบโตได้ในไทย ซึ่งเมื่อนำมาเข้ากระบวนการแล้ว จะทำให้สาหร่ายเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งมีสารที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระหรือ Antioxidant ที่สูงมาก เรียกว่า Astaxanthin อันเป็นที่นิยมในวงการอาหารเสริม เพราะช่วยชะลอริ้วรอย ทำให้ดูหน้าตาอ่อนวัย และที่สำคัญคือราคาซื้อขายของ Astaxanthin บริสุทธิ์และเกรดดีนั้น กิโลกรัมละ 1,000,000 บาทเลยทีเดียว ก็เป็นธรรมชาติของงานวิจัย ที่จะมีผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ถ้าเราสามารถต่อยอดแล้ว ก็เกิดโอกาสใหม่ ๆ ได้นะครับ
สาหร่ายเป็นพืชที่หาง่าย และที่สำคัญคือทนทาน อีกทั้งแพร่พันธุ์ได้เร็ว วงจรชีวิตสั้น และความหลากหลายของสายพันธุ์ทำให้สามารถต่อยอดได้หลายอย่างหลายทาง เฉพาะ Algae ก็มีมากกว่า 320,000 สายพันธุ์ ขณะที่สาหร่ายอีกประเภทคือ Seaweed ก็มีอีกกว่า 12,000 สายพันธุ์ และโดยมากสภาพตามธรรมชาติมักต้องยึดเกาะกับพื้น (Benthic macroalgae) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งนักวิทยาศาสตร์และสตาร์ทอัพเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ เช่น Notpla จากอังกฤษที่เริ่มทำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้จาก seaweed เพื่อเป็นการตอบโจทย์การงดใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกที่ใช้อย่างมากมายในช่วงล็อคดาวน์ โดยได้ร่วมกับ Just Eat ผู้ให้บริการส่งอาหารในสหราชอาณาจักรและประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากภัตตาคารหลายร้อยแห่ง แม้ว่าต้นทุนยังสูงกว่าพลาสติกปกติหลายเท่าตัว แต่ด้วยความที่ยุโรปมีความตื่นตัวเรื่องขยะและโลกร้อนทำให้ธุรกิจยังไปได้ดี และบริษัทก็เริ่มได้รับ seed funding หรือเงินทุนก้อนแรกจาก Horizon Venture ในกลุ่มของมหาเศรษฐีลีกาชิงแล้วด้วย
อีกด้านหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของความตื่นตัวในส่วนของ plant-based food ที่เริ่มมีคนที่เป็นวีแกนมากขึ้น และสาหร่ายก็สามารถที่จะดัดแปลงเพื่อให้มีทั้งสารอาหารและรสชาติที่ใกล้เคียงกับอาหารสัตว์ โดย Nestle บริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกด้านโภคภัณฑ์ก็ได้เริ่มทดลองทำกุ้งและไข่จากสาหร่าย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือสตาร์ทอัพจากแคนาดาชื่อ Cascadia Seaweed ที่ได้เริ่มผลิตอาหารสัตว์จากสาหร่าย เพื่อเลี้ยงวัวในฟาร์ม เพราะมีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่าเมื่อวัวกินสาหร่ายเป็นอาหารแล้วนอกจากจะทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์มากกว่าอาหารสัตว์ทั่วไป แล้ว ยังทำให้มันปล่อยก๊าซมีเทนลดลงอีกด้วย (ขออนุญาตฮานิด ช่างคิดจริง ๆ) อย่างที่เคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาหลักของฟาร์มปศุสัตว์คือนอกจากใช้พื้นที่ขนาดใหญ่แล้ว การย่อยในกระเพาะของสัตว์ทำให้เกิดปล่อยก๊าซมีเทนทั้งผ่านการเรอและผายลม ซึ่งก็จะสร้างปัญหาโลกร้อน การลดการปล่อยมีเทน ก็จะทำให้ คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ของฟาร์มเหล่านี้ดีขึ้น และเสียภาษีคาร์บอนน้อยลง โดย Cascadia ได้ลงทุนทำฟาร์มสาหร่ายกว่า 7 แห่งในแคนาดา และเตรียมเปิดตัวในยี่ห้อ Kove โดยมองว่าในอนาคตคงจะมีฟาร์มสาหร่ายทะเลจำนวนมาก เช่นเดียวกับการทำฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น
จากพืชเซลล์เดียวหรือน้อยเซลล์ที่เรากินเล่นเวลาดูหนัง ตอนนี้สาหร่ายอาจจะกลายเป็นพืชกู้โลกจากภาวะโลกร้อนอย่างไม่น่าเชื่อ MarketsandMarkets บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกได้คำนวณว่ามูลค่ารวมของตลาดเลี้ยงสาหร่ายอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือในปีค.ศ. 2025 ก็เป็นอีกธุรกิจสีเขียวที่น่าสนใจทีเดียว ถึงตรงนี้ผมขอไปรับประทานสาหร่ายแห้งอบกรอบก่อนนะครับ เผื่อจะช่วยลดการปล่อยมีเทนได้บ้าง