25 มีนาคม 2565
คาร์บอนส่วนบุคคล
คอลัมน์ Everlasting Economy ฉบับเดือน มีนาคม 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อเดือนที่แล้วผมเขียนถึงราคาน้ำมันดิบที่แตะ 140 เหรียญสหรัฐใน ปี ค.ศ. 2007 นั้น ผมเขียนไว้ก่อนที่จะมีเหตุการณ์รัสเซียเข้าไปทำกิจกรรมทางทหารเป็นกรณีพิเศษในยูเครน (ศัพท์อย่างเป็นทางการจากฝั่งรัสเซีย) หรือการเกิดสงครามในยูเครนนั่นเอง ซึ่งในวันที่ 7-8 มีนาคมที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งไปกว่า 130 เหรียญอีกครั้งหนึ่ง ต้องบอกว่าแม้จะเป็นระดับที่อาจจะมีการคาดการณ์มาก่อนในกรณีที่เกิดสงครามยูเครน แต่ราคาในระดับนี้ก็เป็นระดับที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง
ต้องยอมรับว่า ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำต่อเนื่องมากว่า 8 ปี ตั้งแต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี shale gas/shale oil ซึ่งคือการแตกหินดินดานเพื่อสกัดไฮโดรคาร์บอนที่ติดอยู่ข้างในนั้นเมื่อปี 2013-2014 จนทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินที่กดดันราคา และต่อเนื่องมาถึงนโยบายการแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันโลกของซาอุดีอาระเบียกับทั้งกลุ่ม shale oil ในสหรัฐในช่วงต้นและต่อมากับรัสเซียในปี 2019 จนถึง การมาของโควิด-19 ทำให้มีแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง แถมเมื่อมีการผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่งผลให้การลงทุนด้านต้นน้ำหรือการขุดเจาะน้ำมันน้อยลงมาก จนมีการคาดกันว่า เมื่อเศรษฐกิจฟื้นเต็มที่หรือเมื่อมีการเดินทางทางอากาศกลับมาเหมือนก่อนโควิด เราอาจจะประสบภาวะการขาดแคลนพลังงานก็เป็นได้
เหตุการณ์ดังกล่าว ได้เริ่มส่งสัญญาณเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเนเธอร์แลนด์และอากาศในยุโรปหนาวกว่าปกติ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปสูงเป็นประวัติการณ์ จนโรงไฟฟ้าหลายโรงหันมาใช้น้ำมันดีเซลในการปั่นไฟแทน ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นด้วย จนคาดกันว่าราคาน้ำมันในปี 2022 นี้คงจะทรงตัวในระดับ 90 เหรียญสหรัฐ บวกลบ 10 เหรียญ แต่พอเกิดการสู้รบขึ้นและมีการแซงก์ชั่นน้ำมันรัสเซียโดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แม้ว่าทั้งสองประเทศมีการนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซียในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ก็ทำให้ประเทศอื่น ๆและเทรดเดอร์ทั่วไปไม่กล้าที่จะสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน การที่น้ำมันเกือบ 5% หายไปจากระบบการค้าโลกย่อมส่งผลกระทบต่อราคาและคาดว่าราคาอาจจะอยู่ในระดับเกิน 100 เหรียญสหรัฐไปอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างที่ผมเขียนไว้ในเดือนมกราคมเรื่อง “เงินเฟ้อสีเขียว” ว่า การผลักดันเข้าสู่พลังงานสีเขียวโดยไม่รักษาความสมดุลไว้ สุดท้ายอาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ฉะนั้น ในเมื่อเรายังต้องลงทุนในส่วนของพลังงานฟอสซิล หรือสร้างอุปทานเพื่อตอบโจทย์การใช้และเพื่อความมั่นคง เรายังมีอีกวิธีที่จะช่วยโลกได้คือการควบคุมอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคส่วนบุคคล ผมเคยชวนพวกเรามา ลด ละ เลิก พลาสติก ในตอน “พลาสติก สะดวก ประหยัด ตายยาก” เมื่อเดือนมีนาคม 2018 แต่วันนี้จะมาชวนพวกเราวัดการบริโภคเชื้อเพลิง หรืออีกนัยหนึ่งการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลของพวกเราทุกคน
Chris Jones จาก UC Berkeley เมื่อปี 2005 มีความอยากที่จะช่วยรักษาผืนป่าอเมซอนในอเมริกาใต้ให้ได้ แล้วจะทำอย่างไร จึงมีความคิดที่สร้างการคำนวณที่เรียกว่า green house calculator หรือเครื่องวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคล โดยใช้วิธีง่าย ๆ ว่า ปีหนึ่ง ๆ เราขับรถส่วนบุคคลประมาณกี่กิโลเมตรหรือเดินทางโดยเครื่องบินกี่ไมล์ ค่าไฟฟ้าที่บ้านประมาณเดือนละเท่าไหร่ และเราบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเนื้อวัวประมาณกี่มื้อต่อเดือน เพื่อจะได้มาคำนวณและประมาณการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านสิ่งที่เขาเรียกว่า carbon dioxide equivalent หรือประมาณการณ์การปล่อยคาร์บอนเทียบเท่าของคนหนึ่งคน โดย Dr. Jones ได้จัดลำดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราตามลำดับดังนี้ Car, Coal, Cow and Consumption
ซึ่งจากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ พบว่าถ้าคนเราขับรถโดยเฉลี่ยประมาณ 25,000 กม. ต่อปี เราจะปล่อยประมาณ 7-8 ตันคาร์บอน ซึ่งการที่เราเปลี่ยนมาใช้รถ EV อาจจะช่วยลดหรือแก้ปัญหาได้ ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอาจจะปล่อยอีกประมาณ 5 ตันคาร์บอนต่อปีต่อคน ถ้าเราติดแผงโซล่าร์บนหลังคาคงช่วยลดได้บ้าง แต่อาจจะเป็นเงินลงทุนที่สูงหน่อย และที่สำคัญคือคนอเมริกันรับประทานสเต๊คกันบ่อย และการบริโภคเนื้อก็ส่งผลให้มีการปล่อยอีก 2.7 ตันคาร์บอนต่อคน ซึ่งถ้าแค่เปลี่ยนมารับประทานผักมากขึ้น ก็อาจจะไม่ต้องติดตั้งแผงโซล่าร์เลยทีเดียว (เพราะโซล่าร์ทำงานเฉพาะกลางวัน หมายถึงจะลดค่าไฟลงได้อย่างมากครึ่งเดียว ซึ่งถ้าไม่รับประทานเนื้อก็จะชดเชยได้พอดี)
นอกจากนี้การศึกษาพบว่า สำหรับบ้านขนาดเดียวกัน (ครอบครัวขนาดเท่ากันและพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกัน) บ้านที่อยู่ชานเมืองจะมีการปล่อยคาร์บอนมากกว่าบ้านในเมืองถึง 2.5 เท่า โดยครัวเรือนในชิกาโคปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยเฉลี่ย 37 ตัน เมื่อเทียบกับบ้านชานเมืองที่ห่างไป 55 กม จะปล่อยสูงถึง 96 ตันคาร์บอน ซึ่งนอกจากคนกลุ่มนี้ต้องขับรถเข้าเมืองเพื่อทำงานแล้ว ยังต้องส่งลูกไปโรงเรียนหรือไปช้อปปิ้งที่เอาท์เลท เป็นต้น เนื่องจากสถานที่ต่าง ๆ อยู่ห่างไกลกัน ไม่เหมือนในเมืองที่ทุกอย่างตั้งอยู่ใกล้ ๆ ในพื้นที่เดียวกัน และสามารถเดินทางโดยรถสาธารณะได้
การเดินทางทางอากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอเมริกันชนจากการเดินทางทางอากาศนั้นอยู่ที่ 1.5 ตัน คาร์บอนต่อปี แต่นักธุรกิจที่เป็น frequent flyers เดินทางปีละ 100,000 ไมล์ (ประมาณบินไป-กลับ กรุงเทพฯ นิวยอร์ค 6 เที่ยว หรือทุก 2 เดือน) จะปล่อยถึง 43 ตันคาร์บอนต่อปีเลยทีเดียว คิดเป็น 30 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก
ประชากรโลกเกือบ 8 พันล้านคน ถ้ามีสัก 1 พันล้านคนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนบุคคลใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอเมริกันชน คือประมาณ 15 ตันคาร์บอนต่อปี นั่นหมายถึง 15,000 ล้านตันต่อปี ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดสัก 20% ก็จะลดได้ถึง 3,000 ล้านตัน เทียบเท่ากับโซล่าร์ฟาร์มกว่า 3.5 กิกะวัตต์หรือปลูกต้นไม้ 3,000 ล้านไร่ต่อปี ก็เหมือนกับช่วยโลกได้อีกทางหนึ่งในภาวะที่เชื้อเพลิงและต้นทุนพลังงานที่สูง และโลกก็ร้อนไม่หยุดครับ ฝากท่านผู้อ่านลองปฏิบัติกันดูนะครับ