EN

24 มิถุนายน 2565

อายุยืนกับ Wearable

คอลัมน์ Everlasting Economy มิถุนายน 2565
โดย ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในช่วงโควิดระบาด 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเราเริ่มใส่หน้ากาก ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการติดเชื้อหวัด หรือโรคทางเดินหายใจต่างๆของมนุษย์โลกลดลง และทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยจนต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาลน้อยลง แต่ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกอย่างที่เริ่มเป็นที่นิยม ที่เราเรียกกันว่า wearable หรืออุปกรณ์ติดตัวเช่น Apple Watch, Garmin หรือ Fitbit ที่ช่วยทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นอีกด้วย

โดยทีมงานวิจัยจากประเทศเดนมาร์กที่รวบรวมข้อมูลจาก 120 กรณีตัวอย่างที่มีทั้งคนที่สุขภาพปกติและคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ พบว่าคนที่ใส่ wearable จะมีการก้าวเดินหรือเคลื่อนไหวมากกว่าคนที่ไม่ใส่ประมาณ 1,200 ก้าวหรือประมาณ 800 เมตรต่อวัน และมีการออกกำลังกายแบบเข้มข้น (vigorous exercise) มากกว่าคนไม่ใส่อีก 49 นาทีต่อสัปดาห์ และเมื่อรวบรวมข้อมูลเป็นเวลานาน 4-10 ปี (wearable พึ่งเป็นที่นิยมใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้แค่ 10 ปี) พบว่าการที่เราเดินหรือเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นวันละ 1,000 ก้าวจะสามารถเพิ่มอายุขัย ( reduce mortality) ได้ 6%-36% หรือก็คือมีสุขภาพกายที่ดีขึ้นและมีอายุที่ยืนขึ้น และต้องพึ่งพาหยูกยาน้อยลง

ที่ผ่านมา โดยเฉพาะท่านที่อายุมากหน่อย ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี และเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากต้องตรวจร่างกายเป็นปีละ 2-3 ครั้งแล้ว ยังต้องตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้น เช่น ตรวจมวลกระดูก วิ่งสายพาน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง อีกทั้งบางท่านที่เริ่มมีโรคประจำ เช่นโรคหัวใจ ความดัน ก็อาจจะต้องมีเครื่องวัดความดันติดบ้าน เพื่อที่จะได้ตรวจวัดทุกวัน นอกจากไม่สะดวกแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงอีกด้วย ทางกลุ่มคนรักสุขภาพในประเทศตะวันตกจึงได้เริ่มคิดหาทางที่จะทำให้เราสามารถที่จะมีอุปกรณ์ติดตัวที่สามารถวัดสิ่งต่างๆในร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ หรือจำนวนก้าวที่เดิน ปริมาณอ๊อกซิเจนในเลือด และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งก็เป็นที่มาของศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า “quantified self” ประมาณว่าการชั่ง ตวง วัด อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเราตลอดเวลา เพื่อดูว่าปกติหรือไม่ โดยอุปกรณ์รุ่นแรกๆ ในช่วงปี 2010 นั้นยังใช้ยากและจำกัดอยู่ในหมู่ techno geeks หรือกลุ่มคนไฮเทคเล็กๆ จนในปี 2015 ที่ Apple Watch เริ่มทำตลาดนั้น ก็มี wearable ออกมาประมาณ 500 ยี่ห้อ และมีมูลค่าตลาดประมาณ 8,000 ล้านเหรียญ โดยในปีล่าสุด (2021) ตลาดได้ขยายใหญ่ถึง 29,000 ล้านเหรียญ (ข้อมูลจาก CCS Insight)

ที่เรารู้จักมากที่สุดในหมู่ wearable คือนาฬิกาข้อมือ แต่ยังมีอุปกรณ์ติดตัวที่ชั่ง ตวง วัด อีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น “แหวน” ที่ติดเซ็นเซอร์ เพื่อที่จะวัดการเคลื่อนไหว การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ และการนอน “หูฟัง” ที่วัดการเต้นของหัวใจและการหายใจ “ที่รัดอก” (chest strap) ที่นักขี่จักรยานมักจะใส่กันเพื่อใช้วัดการเต้นของหัวใจ จังหวะการย่างก้าวในการเดิน (cadence) และการทรงตัวของร่างกาย หรือ”สายรัดหัว” “เสื้อผ้า” (smart clothing) “ถุงเท้า” (smart socks) “ที่รองรองเท้า” (shoe insole) ล้วนสามารถพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้น แล้วในยานแม่หรือ Apps ในมือถือจะมี AI เพื่อประมวลผลแล้ววิเคราะห์ออกมาว่าเรานอนดีไหม เรามีปริมาณน้ำในร่างกายเพียงพอไหม มีการอักเสบในกล้ามเนื้อไหม หรือจากการเดินและทรงตัว เรามีปัญหาด้านประสาทไหม เป็นต้น

นอกจากเก็บข้อมูล วิเคราะห์แล้ว บางที่อุปกรณ์เหล่านี้ยังเป็นเครื่องช่วยชีวิตอีกด้วย เช่นกรณีของ Apple Watch และ Fitbit ที่ได้รับรองจาก FDA ที่สหรัฐอเมริกาว่าสามารถที่จะเป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลสำหรับคนที่มีอาการผิดปกติของหัวใจได้อีกด้วย โดยมันสามารถจะรับรู้ได้ว่าการเต้นของหัวใจนั้นผิดปกติ ซึ่งเมื่อผู้สวมใส่ที่มีอาการแล้ว ถ้ายังมีสติสามารถที่จะกดปุ่มที่อยู่ข้างๆ นาฬิกา และตัวนาฬิกาข้อมือจะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นหัวใจ แบบเครื่อง EKG เลยทีเดียว

และยังสามารถคาดการณ์โรคภัยที่อาจจะยังไม่สามารถตรวจเจอได้จากการพบแพทย์ แต่สามารถวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย (Bio-marker) เช่น การก้าวเดิน การแกว่งแขน (การทรงตัวของร่างกาย) ก็เป็นสัญลักษณ์เบื้องต้น ของโรคพาร์กินสัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง ก็จะเป็นสัญญาณล่วงหน้าว่าสมองเริ่มจะเสื่อมหรือเริ่มเป็นโรค และเมื่อการเดินหรือแกว่งแขนเปลี่ยนไปมากขึ้น ก็อาจจะหมายถึงอาการรุนแรงขึ้นอีกเป็นต้น

นอกจากนี้ มันยังสามารถช่วยให้การรักษาพยาบาลเป็นไปได้อย่างมีวินัย และประสบผลอีกด้วย เช่นยาบางประเภทที่ถ้ารับประทานไม่ครบโดสแล้วอาจจะเกิดการดื้อยา อุปกรณ์ดังกล่าวก็อาจจะส่งสัญญาณเตือน เพื่อไม่ให้เราลืม ซึ่งรวมถึงกรณีที่เราอาจจะต้องทำกายภาพบำบัด อุปกรณ์ต่างๆ เหล่าก็เป็นเครื่องเตือนความจำที่ดีเยี่ยม

การที่โลกเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่ว่าการไม่เป็นโรคภัยเป็น]k4อันประเสริฐ ซึ่งเรานอกจากจะมี wearable ที่ช่วยให้เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยประหยัดงบสาธารณสุขของภาครัฐอีกด้วย ผมเองก็ใส่ wearable มาร่วม 8 ปีแล้วครับ และอยากจะขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาลองใส่กันดูนะครับ