EN

13 มกราคม 2566

บนเส้นทางเคียงข้างครูภาษาไทย

เพื่อวางรากฐานการอ่านเขียน

“คำถามที่ว่ามีด้วยเหรอเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีมานานมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่หมดไป เป็นเรื่องปกติที่คนมักจะไม่รู้ว่าทำไมยังมีอยู่ด้วย แต่สำคัญกว่าคือคำถามว่าเพราะอะไร ต้องบอกว่าหลายปัจจัย ที่สุดท้ายทำให้นักเรียนไม่สามารถสะกดคำ-ผันเสียงได้ เด็กบางคนเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็มี เพราะเรียนมาแบบจำรูปคำมาตลอด จึงสะกดคำ-ผันเสียงไม่ได้”

ส่วนหนึ่งของบทสนทนากับ ในดวงตา ปทุมสูติ นักวิชาการจากศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม หรือ ครูก้อย ของเด็ก ๆ และคุณครูโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วม โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว 1 ใน 3 โครงการสำคัญของมูลนิธิใบไม้ปันสุข ริเริ่มโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับภารกิจในการดำเนินโครงการสนับสนุนการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางเคียงข้างครูภาษาไทย

ด้วยพื้นฐานในการทำงานร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ หรือ ครูกานท์ คุณพ่อของเธอ ผู้ตระหนักถึงปัญหาและใช้ประสบการณ์ความเป็นครู กลั่นกรองและเขียนตำรา “เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แก้ง่ายนิดเดียว” ขึ้นในปี พ.ศ. 2547 และจัดโครงการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มาแต่เดิม ทำให้ ครูก้อย มีโอกาสเดินสายอบรมครูและผู้บริหารโรงเรียนมาแล้วทั่วประเทศในฐานะวิทยากรผู้ช่วย ทำให้ซึมซับและรับรู้ต่อมาว่า สิ่งนี้คืองานที่ถนัดและรักที่จะทำ

“แม้จะไม่ได้เป็นครูในระบบ แต่จากประสบการณ์ทำงานที่มี ร่ำเรียนมาทางภาษาไทยโดยตรง เป็นสายครู มาตลอด ทั้งครูอาสาในชุมชน สอนจริง เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย พอเราได้ลงลึกไปกับสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้เริ่มเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น มีความสุขและความสนุกที่ตรงกับสิ่งที่เรียนรู้ ได้หาทางบรรเทาปัญหา กับคำถามที่ว่า กระบวนการอ่านออกเขียน ได้นั้น ควรสอนยังไง ลงลึกอย่างไร”

ครูก้อยกับภารกิจการสอนทั้งในห้องเรียน และสอนผ่านระบบออนไลน์

ต่อยอดขยายผลสู่วงกว้าง บนความร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้ปันสุข

จากบทบาทที่เคียงข้างครู ที่ขยายขอบข่ายการผลักดันและบรรเทาปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผ่านความร่วมมือกับมูลนิธิใบไม้ปันสุข เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ๆ ลงลึกสู่กระบวนการสอนตามแนวทาง บันไดทักษะ 4 ขั้น ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสอนภาษาไทย เพื่อป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

จุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเกิดจากการที่เราได้คุยกัน และเข้าใจตรงกัน เพราะเห็นความสำคัญเหมือนกัน และมีเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งให้เด็กและเยาวชนอ่านออกเขียนได้ และพร้อมลงลึก ติดตามผล วัดผล อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทำให้รู้สึกมีพลังและความสุข ที่บางจากฯ กับเราพร้อมที่จะไปด้วยกัน ในฐานะพันธมิตรที่ร่วมกันปลุกปั้นสรรค์สร้างอนาคตของชาติ

เรียนรู้บนเส้นทางครูของครู ที่ปรับตัวตนเพื่อเคียงข้างครูภาษาไทย

ครูก้อย กล่าวต่อว่า วิธีการรับมือกับปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ที่ยังมีจริงอยู่ในแต่ละโรงเรียน คือการคลี่คลายทัศนคติของครูและผู้บริหาร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้พบเจอเมื่อลงพื้นที่ ครูก้อยบอกว่า หากเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารให้มุ่งเห็นผลสัมฤทธิ์ของเด็ก แก้ไขความเปลี่ยนแปลงจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ได้แล้วนั้น ครูก็จะเปลี่ยนไปด้วย และเมื่อครูเปลี่ยนด้วย ก็จะส่งผลต่อเด็ก ๆ นักเรียนได้อย่างมหาศาล

บนเส้นทางสายครูของครู ที่ร่วมผลักดันให้เด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ และมีความสุขกับการเรียนรู้มาโดยตลอดนั้น ครูก้อยกล่าวทิ้งท้ายว่า “การอ่านนั้นสำคัญ เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นทักษะสำคัญที่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด เด็กคนหนึ่งจะเติบโตไปจนประสบความสำเร็จ เริ่มต้นได้จากการอ่านออกเขียนได้ เมื่อเด็กสนุกกับการอ่าน เท่ากับเปิดโอกาสการเรียนรู้ ได้ค้นพบความชอบ หรือศักยภาพในตัวที่จะพัฒนาได้ และนั่นคือโอกาสในชีวิตให้กับเยาวชนของชาติได้อีกทางหนึ่ง”

มูลนิธิใบไม้ปันสุข ริเริ่มโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีภารกิจในการดำเนินโครงการด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 4 Quality Education ตลอดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ปัจจุบันมี 3 โครงการสำคัญ โดยความร่วมมือระหว่างพันธมิตร ได้แก่ทุ่งสักอาศรม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ คือโครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการอ่านหนังสือและการเขียนของเด็กและเยาวชน โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อจัดการขยะ และ โครงการโซลาร์ปันสุข ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำการเกษตรในโรงเรียนและพื้นที่ชุมชนรอบข้าง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้มอบโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับนักเรียน 15,000 คน จาก 200 สถานศึกษา ใน 52 จังหวัด

โครงการ “อ่านเขียนเรียนสนุก” ของมูลนิธิใบไม้ปันสุขได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2021 ประเภท Investment in People และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลระดับโลก S&P Global 2020 ประเภท Corporate Social Responsibility Award - Targeted
วันแถลงข่าวครบรอบ 5 ปี มูลนิธิใบไม้ปันสุขร่วมกับพันธมิตร
ติดตามภารกิจของครูก้อย และ มูลนิธิใบไม้ปันสุขได้ทาง
https://www.facebook.com/baimaipunsook