10 กุมภาพันธ์ 2566
สามนักแบดฯ ไทย ใช้ชีวิตและเดินทางแบบไร้คาร์บอน
เก็บแต้มเพื่อเตรียมชิงชัย บนแนวทางความยั่งยืน ใน Paris Olympic
ปารีสเคยเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแฟชั่น แต่หลังจากการประชุม COP21 เมื่อปีค.ศ. 2015 (Conference of the Parties หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี) ทำให้ปารีสเป็นที่รู้จักในอีกแง่มุมหนึ่งคือสถานที่ที่ผู้นำระดับโลกได้ตกลงกันว่าจะร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ก็ใช้เวลาอีกหลายปีพอสมควรจนกว่าจะเห็นเป้าประสงค์และแผนงานที่เริ่มจริงจังขึ้นในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 2021
Paris Olympic คือ เป้าหมายปลายทางของการเก็บคะแนนของสามนักแบดฯ ไทยจาก โรงเรียนบ้านทองหยอด
โค้ชเป้ ภัททพล เงินศรีสุข จากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ผู้ฝึกฝนนักแบดมินตันฝีมือระดับต้น ๆ ของโลกทั้งชายและหญิงกล่าวว่า “หนึ่งในความท้าทายในปีนี้ ของโรงเรียนบ้านทองหยอด ก็คือการสนับสนุนให้นักกีฬาเก็บคะแนน เพื่อผลักดันให้มีโอกาสร่วมแข่งขัน Olympic 2024 ที่ปารีสในปีหน้า”
บทบาทความยั่งยืนในมุมนักแบดมินตัน
ในฐานะโรงเรียน เราก็สังเกตได้ว่าสังคมรอบตัว มีความตื่นตัวเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาเรื่อง Climate Action จะยังไม่มี impact มากในวงการแบดมินตัน ส่วนหนึ่งเพราะทัวร์นาเมนต์แบดฯ นั้นหลัก ๆ จัดในเอเชียกว่า 80% ซึ่งยังไม่มีการจัดการโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเท่าฝั่งยุโรป แต่ปี 2566 นี้จะมีอเมริกาและออสเตรเลียเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพ รวมแล้วกว่า 20 รายการ ขณะที่ในยุโรปค่อนข้างเห็นได้ชัดว่ามีการตื่นตัวให้ความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมลดโลกร้อนจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยนักกีฬาจากยุโรปเริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดคือ การแสดงความเห็นเรื่องการจัดลำดับรายการแข่งขันที่ไม่ควรกลับไปกลับมาจากภูมิภาคหนึ่งสู่ภูมิภาคหนึ่ง (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - เอเชียใต้ - เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทำให้เสียทั้งค่าใช้จ่ายและยังมีผลต่อการปล่อยคาร์บอนฯ จากการเดินทางอีกด้วย
“สำหรับวงการแบดมินตันไทยเรา อาจจะยังไม่ตื่นตัวมาก แต่ก็เริ่มมีภาคเอกชนที่มีบทบาทต่อวงการฯ เช่น การสนับสนุนเสื้อที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ในต่างประเทศ มีการคุยกันว่าไม้แบดมินตันที่ก้านหักแล้ว สามารถนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลทำเป็น Graphite นำมาใช้ใหม่ได้ คิดว่านับจากกลางปี 2566 นี้ เป็นต้นไป จะเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงจริงจังมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่โอลิมปิกที่ปารีส เพราะมีการประกาศออกมาแล้วว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024 จะลดการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการแข่งขันเกมให้ได้ครึ่งหนึ่งและจะชดเชยการปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่สร้างขึ้น”
บางจากฯ หนุนสามนักแบดฯ ไทยสู่ นักกีฬาไร้คาร์บอน
โค้ชเป้ กล่าวเสริมว่า ที่โรงเรียนบ้านทองหยอดตอนนี้มีนักกีฬาต่างชาติมาฝึกซ้อมมากขึ้น โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ทางโรงเรียนจึงอยากพัฒนาเพิ่มเติมเรื่องการจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใส่ใจบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เริ่มจากการทำอะไรง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้แก้วน้ำที่ใช้ซ้ำได้
“เมื่อบางจากฯ ได้ต่อยอดการสนับสนุนในปีที่ 9 นี้ด้วยการจะชดเชยคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากการเดินทางไปแข่งขันแบดมินตันรวมประมาณ 20 รายการ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของนักกีฬาตลอดปี พ.ศ. 2566 ให้น้องวิว (กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชาย อันดับ 6 ของโลก) น้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิง อันดับ 8 ของโลก) และน้องจิว (ลลินรัศฐ์ ไชยวรรณ นักแบดมินตันหญิง อันดับ 30 ของโลก) เป็นเรื่องดีที่เรายินดีมาก เพราะเป็นกระแสสำคัญที่ละเลยไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทางที่เราตั้งใจจะปลูกฝังให้กิจกรรมของนักกีฬานอกเหนือจากการฝึกซ้อมและแข่งขันนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้น้อง ๆ ตระหนักถึงการร่วมเป็นต้นแบบในการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่ทุกคนเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสที่เชื่อว่าจะมีความมุ่งมั่นในการลดและชดเชยคาร์บอนฯ ของเหล่าบรรดานักกีฬาทุก ๆ ประเภทอย่างจริงจัง” โค้ชเป้ กล่าวทิ้งท้าย
ถนนทุกสายด้านกีฬากำลังมุ่งสู่ปารีสสำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่จะมาถึง บางจากฯ จะร่วมชดเชยคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากการเดินทาง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของนักกีฬาแบดมินตันบ้านทองหยอดในปี 2566 ด้วยคาร์บอนเครดิตผ่านการซื้อขายใน Carbon Markets Club ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ทุกคนตระหนักว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้น ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคล มีผลกระทบต่อโลก และช่วยกันพยายามหาทางลดเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยโลกของเรา