EN

21 มิถุนายน 2567

โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง สร้างสถิติใหม่ของการซ่อมบำรุง

ด้วยความปลอดภัยเต็มร้อย รักษาประสิทธิภาพการกลั่น

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญสำหรับโรงกลั่นน้ำมันคือการทำ Turnaround Maintenance หรือ TAM ซึ่งหมายถึงการหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามวาระ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและฟื้นฟูสภาพ ซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบในกระบวนการกลั่น ที่ทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทุกโรงกลั่นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผน โดยการหยุดกระบวนการผลิตทั้งหมดและซ่อมบำรุง ก่อนกลับมาเริ่มเดินเครื่องใหม่อีกครั้งอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังการผลิตและปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีการประสานงานร่วมกันระหว่างโรงกลั่นต่าง ๆ เพื่อกำหนดช่วงเวลาร่วมกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกำลังการผลิตในภาพรวมของประเทศ

โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กำหนดให้มีการทำ Turnaround Maintenance เป็นประจำ โดยการหยุดหน่วยกลั่นเพื่อซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบและหน่วยผลิตอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้สูงขึ้น ดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย และป้องกัน ลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยครั้งล่าสุด ได้ซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระเมื่อปี 2564

และในปี 2567 นี้ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 27 วันในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้ระยะเวลาน้อยที่สุดในรอบ

โดยนำแนวทางหลักปฏิบัติที่ดี (Best Practice) มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด นำเทคโนโลยีโดรนและหุ่นยนต์เข้าใช้ตรวจสอบอุปกรณ์ล่วงหน้า เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุง เพิ่มเติมเครื่องมือประสิทธิภาพสูงเข้ามาใช้งาน เช่น ทำความสะอาดภายในเส้นท่อ ด้วย Intelligent Pigging ลดการใช้พลังงานในเตาเชื้อเพลิงด้วยการทำ Coating Furnace Technology เสริมด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง รวมกับผู้เชี่ยวชาญจากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา ผู้เชี่ยวชาญและผู้ตรวจสอบ (QA/QC) จากต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนการทำงานถูกต้องตามมาตรฐานและปลอดภัยตามหลักสากล พร้อมทั้งยังใส่ใจการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพิ่มอุปกรณ์ลดผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและด้านความปลอดภัย ไม่มีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานเลย หรือ Zero Lost Time Injury ตลอดช่วงเวลาการซ่อมบำรุงใหญ่

จากการดำเนินการข้างต้น ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ยังสามารถคงกำลังการกลั่นได้ในระดับสูง (130,000 บาร์เรลต่อวัน) ได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานเพื่อรองรับปริมาณความต้องการภาคการบินที่สูงขึ้น และตามแผนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) อีกทั้งน้ำมันเกรดพิเศษ (Unconverted Oil) และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยการขยายรอบการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่จากทุก 2 ปี เป็นทุก 4 ปี ติดตั้งหน่วยส่งเสริม สร้างประสิทธิภาพและเสถียรภาพ เช่น ติดตั้งหอเผาทิ้งระบบปิด (Enclosed Ground Flare, EGF) หน่วยที่ 2 และหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังงานร่วมชนิดเครื่องยนต์ก๊าซ พร้อมทั้งเริ่มการก่อสร้างโครงการหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน การจัดการพลังงานในกระบวนการผลิต ก้าวสู่ EII (Energy Intensity Index) ระดับ Quartier 1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ส่งผลโดยตรงต่อการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบางจากฯ ให้เป็นไปตามแผนงานองค์กร BCP316NET มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2593

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้างโรงกลั่นผ่านโครงการครัวชุมชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนเปิดร้านค้า 24 ร้าน จากตัวแทน 8 ชุมชน สร้างรายได้รวมกว่า 8 ล้านบาท และรายได้จากบริการซักรีดเสื้อผ้าพนักงาน สร้างรายได้รวมประมาณเกือบ 2 แสนบาท ถือเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทางหนึ่งด้วย