EN

16 สิงหาคม 2567

ความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่น การพัฒนา: สามเสาหลักการบริหารการเงินของบางจากฯ

“บางจากฯ เติบโตและพัฒนาไปมาก จากเดิมเป็นเพียงบริษัทมีโรงกลั่นและสถานีบริการมาเป็น กลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลายทางธุรกิจ” ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน ผู้คุมการขับเคลื่อนเครื่องจักรทางการเงินของกลุ่มบริษัทบางจาก เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของบางจากฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงเป็นการเติบโตเชิงธุรกิจแต่ยังเป็นความท้าทายในการบริหารการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

“มี 3 ประเด็นหลักในการบริหารการเงิน คือ สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน สื่อสารสร้างความเชื่อมั่น และปรับเปลี่ยนคนและกระบวนการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ” ภัทร์ภูรีกล่าวต่อ “3 ด้านนี้จะสนับสนุนให้บางจากฯ เติบโตได้อย่างมั่นคง”

ความแข็งแกร่งทางการเงิน ฐานรากอันมั่นคง
(Protect Balance Sheet)

ในการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผันผวน “การบริหารการเงินและสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน คือกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโต” ภัทร์ภูรีชี้ถึงการสร้างรากฐานด้านการเงิน “เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการพอร์ตการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มบริษัท" เธออธิบายเพิ่มเติมว่า การหมุนเวียนเงินเพื่อลงทุนในโครงการ ใหม่ ๆ ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกฝ่าย “บริษัทในกลุ่มต้องเข้าใจและเห็นภาพตรงกัน ต้องสร้างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน และคำนึงถึงจุดที่สามารถหมุนเวียนกลับมาเป็นเงินลงทุนใหม่ได้"

“ต้องวางแผน เตรียมเงินให้พร้อม ดูแลความแข็งแกร่งและโครงสร้างทางการเงินควบคู่กันไป” เพื่อให้สามารถตอบสนองโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

สื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ กุญแจสู่ความเชื่อมั่น
(Communicating Values)

ภัทร์ภูรีกล่าวต่อถึงอีกหลักต่อมานั่นคือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อบางจากฯ ว่าก่อนหน้านี้การไปโรดโชว์ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายในการทำให้นักลงทุนสนใจและรู้จัก แต่เมื่อปรับกลยุทธ์ นอกจากสื่อสารพัฒนาการธุรกิจแล้ว ได้ดึงจุดแข็งมาสื่อสาร ทำให้วันนี้ได้รับการตอบรับจากนักวิเคราะห์ นักลงทุนอย่างดี

“เรื่องแรก ความเล็กทำให้เราคล่องตัวทำหลายเรื่องได้รวดเร็ว เช่น การลงทุนโซลาร์ฟาร์ม ลิเทียม น้ำมันชีวภาพ และล่าสุดในธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ทำให้เราเป็นผู้นำ ถัดมา ความหลากหลายของธุรกิจเรา ทำให้เรามีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนธุรกิจที่หลากหลาย เอื้อต่อการเติบโตและช่วยรองรับความผันผวน และสุดท้ายคือ แม้ว่าบางจากฯ จะอยู่ในธุรกิจปิโตรเลียม แต่มีความมุ่งมั่นในการก้าวสู่ Net Zero และให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างมูลค่าและคุณค่าในการดำเนินธุรกิจเสมอมา”

“3 ประเด็นนี้ทำให้บางจากฯ เป็นที่ยอมรับ ได้รับเลือกเป็นหุ้น Top pick สามารถดึงดูดกองทุนในภูมิภาคได้มากขึ้น เป้าหมายต่อไปคือทำให้นักวิเคราะห์ระดับโลกเชื่อมั่นมากขึ้น”

พัฒนาพนักงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
(Transform People & Process)

ภัทร์ภูรีชี้ให้เห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ระบบหรือกระบวนการ แต่เป็นเรื่องของคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการทำงาน เธอกล่าวว่า "ภารกิจที่ขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ตอนนี้คือการยกระดับทักษะใหม่ ๆ ให้พนักงาน" เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัว เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ภัทร์ภูรีกล่าวเพิ่มเติมว่า หากเดินเข้าไปในสายงานบัญชีและการเงินในวันนี้ อาจเห็นทีมงานบางคนกำลังเขียนโปรแกรมหรือใส่โค้ดดิ้ง “เราเริ่มต้นจากการให้ทีมเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI เปิดโอกาสให้ส่งต่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด พนักงานเปิดใจที่จะ disrupt ตัวเองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายแรก คือการหากรณีตัวอย่างในการนำ AI มาใช้ในการทำงานเพื่อให้การทำงานมีศักยภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะได้เห็นการขยายผลในการทำงานต่อไป

“สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่การทำแบบที่เคยเป็นมาต้องพร้อมในการ ปรับเปลี่ยน” เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ความพยายามอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ด้านส่งผลอย่างเป็นรูปธรรม หุ้น BCP ได้รับคัดเลือกเป็นหุ้นที่เข้าคำนวณในดัชนี SET50 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 “เรารอคอยมากว่า 7 ปี เป็นความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ สะท้อนความมั่นคงและน่าเชื่อถือของบางจากฯ จะทำให้ BCP ได้รับความสนใจมากขึ้นจากกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี”

บางจากฯ ตั้งเป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาท มุ่งสู่การเป็นองค์กร 100 ปี “เราจะไม่หยุดพัฒนา” ภัทร์ภูรีย้ำและกล่าวทิ้งท้ายว่า “การบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนให้บางจากฯ ไปถึงเป้าหมายนี้ เพื่อส่งมอบผลการดำเนินงาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย”