EN

18 ตุลาคม 2567

“ใบไม้เดียวกัน”

เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่ง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นที่ยอมรับในความมุ่งมั่นเพื่อสร้างสมดุลในด้านการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากการนำนโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจน

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เกี่ยวกับแนวทางของบางจากฯ ในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนและการสื่อสารองค์กร

ให้ความสำคัญกับ “สมดุล”

กลอยตาอธิบายถึงเป้าหมายของบางจากฯ ในฐานะบริษัทพลังงานที่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการปฏิบัติที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ ได้ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และบรรลุ Net Zero ภายในปี 2593 ด้วยแผน BCP316NET ซึ่งมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “นอกจากนั้นเรายังสร้าง Net Zero Ecosystem ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชน และผู้บริโภค เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ยั่งยืน” กลอยตากล่าว

เธอเล่าว่าบางจากฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลกำไรและคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ โดยระบุว่า “เราไม่ได้มุ่งเน้นการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการสร้างคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำแนวคิด ESG มาเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างมีสมดุล โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านเครือข่ายเพื่อสังคม

บางจากฯ ร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านการสร้างเครือข่ายเพื่อสังคม ตัวอย่างเช่น มูลนิธิใบไม้ ปันสุข ที่ส่งเสริมโครงการทางด้านการศึกษาให้แก่เยาวชน ส่งเสริมโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย เน้นการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการเรียนรู้และลงมือทำ ในขณะที่ออมสุขวิสาหกิจเพื่อสังคม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรและการเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน อีกทั้งบางจากฯ ยังเป็นผู้นำในการก่อตั้ง Carbon Markets Club ซึ่งเป็นคลับรักษ์โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกับบริษัทบีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และอีก 9 องค์กรพันธมิตร ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,200 ราย ทั้งในรูปแบบองค์กรและบุคคล “เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ไม่เพียงแต่ภายในองค์กรของเรา แต่กับสังคมรอบข้างด้วย” เธอกล่าวเสริม

แบรนด์บางจาก การสื่อสาร และการจัดการชื่อเสียงองค์กร

บางจากฯ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งด้วยแนวคิด “Greenovate to Regenerate” มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังฟื้นฟูธรรมชาติให้ยั่งยืน แนวคิดนี้สะท้อนถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงแค่การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการ แต่ยังสะท้อนถึงคุณค่าและความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจในแบรนด์ที่มุ่งมั่นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

สำหรับกลอยตา ทั้งการสื่อสารภายในและภายนอกมีความสำคัญอย่างยิ่ง “ภายในองค์กร เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจเป้าหมายของบริษัทฯ และบทบาทของตัวเองอย่างชัดเจน ขณะที่การสื่อสารภายนอกช่วยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย”

การจัดการชื่อเสียงขององค์กรในยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายที่บางจากฯ ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา กลอยตาอธิบายว่า “การสื่อสารที่รวดเร็ว โปร่งใส และตรงประเด็นคือกุญแจสำคัญในการจัดการวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในยุคที่ข้อมูลแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว” ในบางกรณี การสื่อสารเชิงรับ (reactive communication) ก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่บางจากฯ ก็ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตได้อย่างทันท่วงที

“ใบไม้เดียวกัน”

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทบางจาก นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในการจัดการทรัพยากร การสื่อสาร และการรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน กลอยตาให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ One Team ด้วยแนวคิด “ใบไม้เดียวกัน” อันหมายถึงโลโก้ใบไม้ของบางจากฯ เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารและการทำงานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนงาน ในฝ่าย หรือระหว่างกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ สายงานต่าง ๆ และบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม โดยเน้นความร่วมมือระหว่างกัน การสนับสนุนและการสื่อสารที่ดีระหว่างกัน ช่วยกันแชร์ไอเดียและการใช้ทรัพยากร ทำให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน เข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กลอยตาเชื่อมั่นว่า การทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง ความสามารถในการปรับตัว และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “ใบไม้เดียวกัน” จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กลุ่มบริษัทบางจากเติบโตอย่างยั่งยืน แม้จะเผชิญกับความท้าทายและความซับซ้อนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บางจากฯ จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นได้ พร้อมกับบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน คู่ขนานไปกับการสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้กับสังคมไทยและสังคมโลกอย่างมั่นคง

“ใบไม้เดียวกัน” แนวคิดที่สะท้อนการทำงานร่วมกันภายในกลุ่มบริษัทบางจาก ไม่เพียงแค่เชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรและความคิดสร้างสรรค์เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการสื่อสาร แต่ยังรวมถึงการประสานงานเชิงกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้กับสังคมไทยและสังคมโลก