EN

15 พฤศจิกายน 2567

ขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน

สืบสานผ้าไทย ใช้พลังงานสะอาด

ในยุคแห่งเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก การรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมต่อกับอดีตและสร้างอนาคต การสนับสนุนศิลปะและงานฝีมือท้องถิ่นไม่เพียงช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชนอีกด้วย

"ผ้าทอไทยลายพิเศษ" ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

บางจากฯ สนับสนุนวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยลวดลายเฉพาะสำหรับบริษัทฯ ด้วยฝีมือช่างของวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภูและในชุมชนท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนในท้องถิ่น ร่วมสร้างสังคมยั่งยืนตามแนวคิด "ส่งต่อความสุขไม่สิ้นสุด" ในโอกาสก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของบริษัทฯ

ด้วยแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์ "รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว" และโลโก้ใบไม้ใบใหม่ ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเกิดเป็นลายผ้าพิเศษขึ้น เปรียบเหมือนลวดลายผ้าโบราณแบบดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปรับทอเป็นลวดลายที่ทันสมัยขึ้น แต่ยังคงเทคนิคการทอลายขิดแบบดั้งเดิมไว้

ทอผ้าอย่างรักษ์โลก ด้วย "Zero Waste" หมุนเวียนทรัพยากร

คุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ “คุณอ๋อย” ประธานวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) ผู้นำด้านผ้าทอไทย เจ้าของรางวัลชนะเลิศเหรียญทองการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จากการส่งผ้าไหม "ลายรุ่งแพรวพราววาวแสง" เข้าประกวด โดยได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทผ้าเทคนิคสร้างสรรค์และงานหัตถกรรมระดับประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เธอใส่ใจกับการหมุนเวียนทรัพยากรในการออกแบบทอผ้าด้วย โดยใช้แนวคิด "Zero Waste" และเทคนิคการทอผ้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นำวัสดุที่เหลือจากการตัดเย็บมาหมุนเวียนสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการย้อมเส้นไหม จึงได้มีการย้อมสีธรรมชาติร่วมด้วย เช่น นำดอกทองกวาว หรือฝักคูนที่ร่วงหล่นมาย้อม ซึ่งหลังจากการย้อมจะมีบ่อบำบัดน้ำที่ใช้ต้นกกช่วยกรอง และเมื่อต้นกกโต ก็ยังสามารถนำมาทอเสื่อได้อีก สอดคล้องกับแนวทางของบางจากฯ ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด

ครบวงจร "ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ" ในหนึ่งเดียว

วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา ซึ่งตั้งขึ้นจากชื่อของ "คุณแม่ขวัญตา" ของคุณอ๋อย) ได้รับการขนานนามว่า "ดอยตุงน้อยแห่งเมืองลุ่มภู" เพราะเต็มไปด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าอย่างครบถ้วนตลอดกระบวนการตั้งแต่ "ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ"

ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ จะมี เรือนย้อมผ้าเป็นพื้นที่เปิดโล่งใช้สำหรับย้อมผ้า และยังมีเรือนทอผ้าที่มีการทอผ้าเป็นประจำทุกวัน เป็นศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นโดยใช้เทคนิคผสมผสาน จุดเริ่มต้นของการย้อมผ้าและทอผ้าเกิดขึ้นที่นี่ และมีเรือนออกแบบ เรือนตัดเย็บ และเรือนซักรีด เป็นขั้นตอนการผลิตที่พิถีพิถันด้วยองค์ความรู้ที่สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่น สร้างสรรค์ชิ้นงานผ้าทอคุณภาพสูง เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ก็จะนำผ้าทอที่ออกแบบตัดเย็บอย่างสวยงามปราณีต มาสู่เรือนสินค้าเพื่อจำหน่าย และจัดแสดงให้ผู้สนใจ เสริมด้วยร้านกาแฟ โรงครัว แปลงพืชผักสวนครัว และอื่น ๆ อีกด้วย

ส่งต่อพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน

นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้ต่อยอดการส่งเสริมผ้าไทยสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการมอบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 35 กิโลวัตต์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับวิชชาลัยได้กว่าร้อยละ 70 โดยมีบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ร่วมสนับสนุนแผงโซลาร์เพิ่มเติม 50 แผง เพื่อให้รองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

ความร่วมมือระหว่างบางจากฯ และวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทยควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน ด้วยแนวทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการนำพลังงานสะอาดมาผสมผสาน การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่เพียงแต่สร้างคุณค่าแก่ชุมชน แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย นี่คือการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่สอดคล้องกับแนวคิด "ส่งต่อความสุขไม่สิ้นสุด" ในโอกาสก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของบางจากฯ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน และสืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไป